คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
สังคมไทยในอดีตเรามีกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมที่เข้มแข็ง โดยผ่านทางสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น สถาบันการศึกษาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชน สถาบันศาสนาที่กำหนดกรอบทางจารีตของชุมชน สถาบันการเมืองการปกครองที่มีผู้นำผู้มากบารมีในชุมชน ทำหน้าที่ปกป้องความสงบสุขของชมชน และสถาบันสันทนาการบันเทิง หรือสื่อมวลชนของชาวบ้าน ที่อบรมบ่มเพาะจารีตทางสังคมแก่สมาชิกทุกรุ่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์
แต่หลังจากเรารับแนวคิดในการพัฒนาบ้านเมืองตามแนวคิดแบบตะวันตก โดยผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาชาติ และระบบราชการแบบตะวันตก ค่านิยมทางสังคมที่เคยมี และได้รับมาตามแนวกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมแบบดั้งเดิม หรือคตินิยมดั้งเดิมก็ถูกปล่อยปละเลย ทั้งในกระบวนการศึกษา ความสัมพันธ์ในครอบครัว กระบวนการถ่ายทอดประเพณีพิธีกรรม และหลักธรรมคำสอนทางศาสนา
ระบบราชการที่มีการทจริตคอร์รัปชัน กระบวนการยุติธรรมที่อยุติธรรม และการเมืองแบบน้ำเน่า ที่ต่างสนองตอบต่อการขยายตัวของระบบทุนนิยมที่อำมหิตต่อวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่รู้จักกันในนามของระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง หรือทำมาหากินไม่ใช่ทำมาหาขาย ระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม และวิถีชีวิต วิถีคิดต่างๆ ของคนก็เปลี่ยนแปลงไปจนเกือบจะสิ้นเชิง
วันนี้สังคมไทยเคลื่อนเปลี่ยนจากนิเวศวัฒนธรรมแบบ “มนุษยนิเวศ” มาสู่นิเวศวัฒนธรรมแบบ “เดรัจฉานนิเวศ” คือ จากสังคมที่มีคตินิยมยึดมั่นในคำสอนทางศาสนา เคร่งครัดในศาสนพิธี เคารพในศาสนสถาน เน้นในระบบคุณค่ามากกว่ามูลค่า มีจารีตทางเพศที่เคร่งครัด มีส่วนร่วมในกิจทางสังคม หรือส่วนรวมตั้งแต่ในระดับครอบครัวที่มีคนหลายรุ่นอยู่ในระบบครอบครัวใหญ่ คือ มีทั้งปู่-ย่า ตา-ยาย ลุง-ป้า น้า-อา พ่อแม่ พี่-น้อง ลูก-หลาน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน มีความสัมพันธ์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยสายเลือด มีความอบอุ่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน
มาสู่สังคมที่ต่างคนต่างอยู่ ยึดมั่นในผลประโยชน์ ผลตอบแทนมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ มีความสัมพันธ์แบบหละหลวม อยู่ในครอบครัวขนาดเล็กที่มีสมาชิกเพียงสองรุ่นคือ พ่อ-แม่กับลูก และไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไป ไม่ค่อยมีอะไรที่ผูกพันกันมากไปกว่าการมีบ้านที่หมายถึง “เสามุงหลังคา” ไว้อาบน้ำ หลับนอน
ยิ่งในยุค “สังคมก้มหน้า” บ้านแทบไม่แตกต่างกับที่รอรถโดยสาร หรือสถานที่อื่นๆ นอกบ้าน โรงเรียนก็ไม่ได้เป็นบ้านหลังที่สอง ครูบาอาจารย์ก็ไม่เหมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็กอีกต่อไป ด้วยจำนวนคนที่มากขึ้นด้วย และโดยระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
นอกจากนั้น สถาบันทางศาสนาที่เคยเป็นหลักยึดเหนี่ยวของชุมชน และสังคมในอดีต ปัจจุบันได้สูญเสียสถานภาพนั้นไปโดยสิ้นเชิง สัมพันธภาพระหว่างวัดกับชุมชนในวันนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากปุถุชนกับปุถุชนโดยทั่วไป นั่นคือ สัมพันธ์กันโดยผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง ศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อวัด ดูกันที่ยอดเงินทอดกฐิน ความสามารถในการทำนุบำรุงศาสนาดูกันที่ราคาโบสถ์ และศาสนสถานที่วัดแต่ละวัดมี ความสามารถของเจ้าอาวาสเน้นไปที่ตำแหน่งสมณศักดิ์ และอาคารสถานที่ที่เจ้าอาวาสมีส่วนในการสร้าง หรือแสวงหางบประมาณให้ได้มา ไม่ได้มองกันที่การเป็นผู้นำทางความคิด ความเชื่อ และความเคารพศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระ และเจ้าอาวาส จนได้ชื่อว่าเป็น “เนื้อนาบุญ” ค้ำจุนชุมชน และสังคมให้สงบสุข ร่มเย็น
ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นคุณลักษณะของสังคมมนุษย์เท่านั้น เพราะมนุษย์เท่านั้นที่มีหรือสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคมมนุษย์ ส่วนเดรัจฉานมันไม่มีวัฒนธรรม มันดำเนินชีวิตไปตามสัญชาตญาณ หรือแรงขับเพื่อ “กิน นอน สืบพันธุ์ และการหนีภัย” และโดยธรรมชาติมนุษย์ก็มีสถานะพื้นฐานเป็นเดรัจฉานโดยกำเนิด มนุษย์ที่เป็นทารกมีสภาพเป็นเดรัจฉานสูงสุด แต่การเรียนรู้เป็นกระบวนการสำคัญที่แยกมนุษย์ออกจากเดรัจฉาน
ดังนั้น มนุษย์ที่ไม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และดำเนินชีวิตโดยไม่ค่อยใช้สติปัญญา แต่ใช้สัญชาตญาณในการสนองตอบกิจกรรม “กิน นอน สืบพันธุ์ และการหนีภัย” จึงย่อมไม่ต่างอะไรกับเดรัจฉาน เพราะ “มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนแล้วประเสริฐ” ไม่ได้เป็นสัตว์ประเสริฐโดยการเกิดมาเป็นคนเพียงอย่างเดียว
สังคมวันนี้กำลังกราบไหว้สิ่งที่เรียกว่า “อุบาทว์” หรือสิ่งที่ให้โทษที่รู้จักกันในนามของสิ่งอัปรีย์ จัญไร หรือไม่เป็นมงคล มากกว่าจะกรบไหว้ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือสิ่งที่ให้คุณ หรือเป็นคุณ หรือขลัง เพียงเพราะสิ่งที่กราบไหว้นั้นนำมาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของอำนาจ บารมี ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือช่องทางในการทำมาหากิน เพื่อให้ได้มาซึ่งอามิสสินจ้างรางวัลที่เป็นตัวเงินตัวทอง (ไม่ใช่เหี้ย) อันเป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิตของคนในระบบทุนนิยมอำมหิตในปัจจุบัน
กระบวนการสอบบรรจุ สรรหา คัดเลือก เลือกตั้ง ฯลฯ เพื่อแต่งตั้งคนเข้าสู่อำนาจ และตำแหน่งแห่งที่จึงเต็มไปด้วยคนถ่อยที่แสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ ใช้ระบบอุปถัมภ์เชิงอำนาจในการตัดสินคนมากกว่าความรู้ ความสามารถ และผลประโยชน์ของส่วนรวม แม้แต่ในวงการสงฆ์ก็ยังไม่พ้นวัฒนธรรมอำนาจ และระบบอุปถัมภ์ คนสอพลอตอแหลจึงมักประสบความสำเร็จในการเข้าสู่อำนาจตำแหน่งทางสังคม มากกว่าคนดีที่มีความสามารถ และมีความตั้งใจจะเข้ามาแก้ปัญหา หรือพัฒนาสังคม
เราจึงมักจะได้ “คนที่อยากเป็น แต่ไม่อยากทำ มากกว่าคนที่อยากทำ แต่ไม่อยากเป็น” มาเป็นหัวหน้าของหน่วยงานทุกระดับ
มีทางเดียวที่จะข้ามพ้น “เดรัจฉานนิเวศ” คือ การเอา “มนุษยนิเวศ” แบบคตินิยมดั้งเดิมกลับมาให้มากที่สุด เร็วที่สุด โดยปรับปรนให้สอดคล้องต่อโครงสร้างของสังคมปัจจุบัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลับไปมีวิถีชีวิตแบบเดิม เพียงแต่นำวิถีชีวิตแบบเดิมที่ยังปรับใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรมการเรียนรู้ และวิถีปฏิบัติที่ให้ความสำคัญต่อระบบคุณค่ามากกว่ามูลค่า