xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันวิจัยฯ สงขลาเร่งเพาะพันธุ์ปลากะพงหวังขายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงในบ่อกุ้งร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา เร่งผลิตลูกปลากะพงขาวให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไปเลี้ยงทดแทนหลังประสบปัญหากุ้งตายยกบ่อ เตรียมต่อยอดร่วมมือนักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนาสายพันธุ์ปลาให้โตเร็ว ต้านทานโรคมากขึ้น

 
วันนี้ (21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลากะพงขาว จำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง ทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลา และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ เร่งผลิตลูกปลากะพงขาวให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ประสบปัญหากุ้งตายยกบ่อ เพื่อไม่ให้บ่อถูกทิ้งร้าง โดยนำปลากะพงขาวไปเลี้ยงทดแทนกุ้งเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเกษตรกรในหลายจังหวัดภาคใต้ประสบความสำเร็จในการนำปลากะพงขาวไปเลี้ยงในบ่อเลี้ยงกุ้ง และได้สั่งพันธุ์ปลากะพงขาวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

 
นายอัตรา ไชยมงคล นักวิชาการประมง สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เปิดเผยว่า สำหรับลูกปลากะพงขาวที่ทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ผลิตออกมาในแต่ละเดือนจะเป็นลูกปลาที่มีคุณภาพ ปราศจากโรค เป็นที่ยอมรับจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง ทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ยอดจองคิวแต่ละเดือนไม่เพียงพอจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ขณะนี้สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา มีลูกปลากะพงขาวกว่า 2 แสนตัว มีอายุราว 20 วัน ซึ่งพร้อมจำหน่ายในอีก 10-15 วันนี้

 
เกษตรกรที่สนใจจะนำลูกปลาไปเลี้ยงสามารถติดต่อสอบถามทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงจังหวัดสงขลาได้ที่หมายเลข 0-7431-1895 โดยจะขายให้ในราคาตามมาตรฐานของกรมประมง ที่ราคาตัวละ 1 บาท โดยที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่จองลูกปลากะพงขาวทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะ อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ที่มาซื้อลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อกุ้งร้าง หลังจากที่เลิกทำนากุ้งไปแล้วจากปัญหาต่างๆ จนกุ้งตายยกบ่อ และเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพงขาวแทน ซึ่งหลายรายประสบความสำเร็จ

 
นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต จากเดิมที่เคยผลิตเดือนละ 1-2 แสนตัว เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 3-4 แสนตัว รวมทั้งพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพให้ปลามีอัตราการผลิตเป็นเนื้อสูง โตเร็ว และต้านทานโรค โดยในปีนี้จะร่วมมือกับทีมวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ในการผลิตสายพันธุ์ปลาให้โตเร็ว และสามารถต้านทานโรคได้มากยิ่งขึ้น


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น