xs
xsm
sm
md
lg

ปลากระชังริมน้ำมูลตายเกลื่อนกว่า 100 ตัน พ่อเมืองอุบลฯ พร้อมหน่วยงานรัฐตรวจสอบพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปลาเลี้ยงในกระชังริมแม่น้ำมูล เขตอ.พิบูลมังสาหาร และอ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี ตายเกลื่อนกว่า 100 ตัน
อุบลราชธานี - ปลากระชังริมแม่น้ำมูลเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอตาลสุม ตายกว่า 100 ตัน เสียหาย 3-4 ล้านบาท เหตุขาดออกซิเจน จากปัจจัยทั้งอากาศปิด แบคทีเรียในน้ำ ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบพรุ่งนี้

วันนี้ (14 ก.ค.) เกิดเหตุปลากระชังและปลาธรรมชาติในแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี ลอยตายจำนวนมาก กระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังทั้ง 2 อำเภอ โดยนางบังอร ขันแก้ว อายุ 54 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังปลาบ้านโพธิ์ศรี หมู่ 7 อ.พิบูลมังสาหาร กล่าวว่า ปลากระชังของตนอายุประมาณ 2 เดือน จำนวน 2 หมื่นตัว ลอยคอขึ้นเหนือน้ำตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 13 ก.ค. จึงพยายามใช้เครื่องปั่นให้ออกซิเจนในน้ำ

และเริ่มตายในช่วงดึก เพราะในน้ำเริ่มไม่มีออกซิเจน และตายทั้งหมดในเช้าวันนี้ จึงแก้ปัญหาด้วยการเก็บปลาที่ตายส่งให้พ่อค้าแม่ค้า และขายให้ประชาชนที่สนใจ เดินทางมาซื้อถึงกระชังเลี้ยงในราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท จากราคาปกติกิโลกรัมละ 60-63 บาท เพื่อลดการขาดทุน

ต่อมาช่วงเที่ยงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดได้นำเครื่องมือวัดค่าออกซิเจนในน้ำมาตรวจวัดที่บ้านโพธิ์ศรี หมู่ 14 ต.โพธิ์ศรี พบมีค่าดีโอดีหรือค่าออกซิเจนในน้ำ 2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่ายังไม่ได้มาตรฐานอย่างน้อยที่ 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนค่าดีโอดีเมื่อกลางคืนที่ผ่านมา 0.1-0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดอยู่ไม่ได้

สำหรับกระชังเลี้ยงปลาในจุดนี้มีปลาอายุใกล้จับขาย เจ้าของกระชังต้องขายให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดและประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางมาซื้อกิโลกรัมละ 10-20 บาท เนื่องจากปลาใกล้เน่า พร้อมช่วยกันชำแหละปลาทำเป็นปลาส้มและปลาร้าเพื่อลดการขาดทุน

ด้านนายคำดี สมสวย เจ้าของกระชังปลา กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาตายน่าจะมาจากน้ำเสียที่ปล่อยออกจากลำโดมใหญ่ที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไป เพราะปลาช็อกตายจากการขาดออกซิเจนทันที ไม่ใช่ตายจากการป่วยเป็นโรค หรือจากสภาพอากาศปิดและมีฝนตกแน่นอน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องเร่งขายปลาที่ตายให้หมดเพื่อลดการขาดทุนลง

ดร.ประเสริฐ มั่นศิริ ประมงจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า มีกระชังปลาได้รับความเสียหาย 17 ราย 84 กระชัง หรือประมาณ 100 ตัน มูลค่าประมาณ 3-4 ล้านบาท สาเหตุปลาตายเบื้องต้นเกิดจากขาดออกซิเจน ส่วนสาเหตุที่ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงมีปัจจัยทั้งจากในพื้นที่มีฝนตกและท้องฟ้าปิดติดต่อกัน 2-3 วัน ส่วนจะมีสาเหตุจากน้ำเสียจากลำโดมใหญ่หรือไม่ยังชี้ชัดไม่ได้ แต่ถ้าดูจากสภาพน้ำในจุดที่มีปลาตาย น้ำมีสีเข้มปนเทา เพราะแพลงก์ตอนในน้ำที่มีจำนวนมากตายลง ทำให้เกิดแบคทีเรียแย่งออกซิเจนจากสัตว์น้ำ จึงเก็บตัวอย่างน้ำส่งให้ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ไปวิเคราะห์หาสาเหตุการขาดออกซิเจนในน้ำ ซึ่งวันพรุ่งนี้ นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมหน่วยงานด้านน้ำ จะลงมาดูข้อเท็จจริงและพบเกษตรกรอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น