xs
xsm
sm
md
lg

ส่งแล็บพิสูจน์หาสาเหตุปลาเลี้ยงในกระชังตาย พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประทีป กีรติเลขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี  ลงพื้นที่หาสาเหตุปลาเลี้ยงในกระชังริมน้ำมูลตาย
อุบลราชธานี - พ่อเมืองอุบลฯ ลงพื้นที่พิสูจน์ปลาเลี้ยงในกระชังริมน้ำมูลตายเป็นเบือ เผยผลผ่าพิสูจน์ปลาเบื้องต้นไม่พบตายจากสารพิษ แต่เก็บตัวอย่างน้ำ รวมทั้งตะกอน ส่งห้องแล็บวิเคราะห์หาสาเหตุที่แน่ชัดภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมให้ประมงจังหวัดเร่งสำรวจช่วยเหลือแล้ว

จากกรณีปลาเลี้ยงในกระชังตามริมแม่น้ำมูลในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอตาลสุม จ.อุบลราชธานี ตายจำนวนมาก เบื้องต้นประมงคาดสาเหตุเกิดจากปลาขาดออกซิเจน เพราะท้องฟ้าอากาศปิดและมีฝนตก แต่ชาวบ้านสงสัยเกี่ยวพันกับการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนลำโดมใหญ่ปล่อยน้ำเสียให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลหรือไม่ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (15 ก.ค. 58) นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เรียกประชุมหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรน้ำ ประมง และนักวิชาการที่วิจัยลำน้ำของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อหาสาเหตุการตายของปลาเลี้ยงในกระชัง พร้อมลงพื้นที่พบปะกลุ่มผู้เลี้ยงปลาที่บ้านโพธิ์ศรี ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีผู้เลี้ยงปลาจำนวนมากได้รับความเสียหายจากปลาตายในครั้งนี้

โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังกล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีว่า เชื่อมั่นว่าสาเหตุการตายของปลาไม่ใช่มาจากปลาน็อกน้ำ หรือขาดออกซิเจน หรือจากภัยแล้ง เนื่องจากขณะเกิดเหตุพบว่าระดับน้ำได้สูงขึ้น และปลาตายอย่างฉับพลัน คาดว่าน่าจะได้รับน้ำเสียหรือสารพิษที่เจือปนไหลมากับน้ำเพิ่มขึ้นในลำน้ำแน่นอน แต่ยอมรับว่าวันเกิดเหตุมีฝนตกและท้องฟ้าปิดติดต่อกัน 1-2 วันจริง

นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ได้รับรายงานจากคณะอาจารย์ที่ทำวิจัยและเก็บตัวอย่างปลาไปผ่าพิสูจน์ ทั้งลำตัวด้านนอกและอวัยวะภายในของปลาที่ตาย ไม่พบรอยช้ำหรือสิ่งบ่งชี้มีสาเหตุมาจากสารพิษใดๆ แต่ยังไม่ตัดประเด็นนี้ทิ้ง เพราะจะต้องเก็บตัวอย่างน้ำ รวมทั้งตะกอนดิน ส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องแล็บเพื่อหาสาเหตุการตายของปลาที่แท้จริงภายใน 1 สัปดาห์

ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้น ได้ให้สำนักงานเทศบาลตำบลโพธิ์ศรีสำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ประมงให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนผู้เลี้ยงปลากระชัง ส่วนจังหวัดได้ทำหนังสือหารือไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อขอใช้งบฉุกเฉินลงมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่สำนักงานประมงจังหวัดรายงานตัวเลขความเสียหายอย่างเป็นทางการ มีผู้เลี้ยงได้รับความเสียหายครั้งนี้จำนวน 21 ราย จากทั้งหมด 39 ราย คิดเป็น 139 กระชัง น้ำหนักรวมประมาณ 70 ตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 4.5 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น