xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำมูล”บุรีรัมย์วิกฤตสุด ! สันดอนโผล่ขับรถบรรทุกลงตักทรายได้ เกษตรกรอพยพหนีภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่น้ำมูลเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงอีสานไหลผ่าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ยังวิกฤตแห้งขอดสุดในรอบ 50 ปี สันดอนทราโผล่เป็นบริเวณกว้างสามารถเดินข้ามฝั่งและขับรถบรรทุกลงไปตักทรายได้ วันนี้ (18 ก.ค.)
บุรีรัมย์ - สถานการณ์ “น้ำมูล” เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงอีสานที่ไหลผ่าน อ.สตึกบุรีรัมย์ ยังวิกฤตหนักแห้งขอดสุดในรอบ 50 ปี สันดอนทรายโผล่เป็นบริเวณกว้างสามารถเดินข้ามฝั่งและขับรถบรรทุกลงไปตักทรายได้อย่างสบาย กระทบเกษตรกรสองฟากฝั่งไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรได้และผู้เลี้ยงปลากระชังปล่อยกระชังทิ้งร้างอพยพหนีภัยแล้งไปขายแรงงานต่างถิ่น

วันนี้ (18 ก.ค.) สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำในแม่น้ำมูลซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงหลายจังหวัดภาคอีสานโดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอด แม้ช่วงนี้จะมีฝนตกในพื้นที่ก็ตาม โดยปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินจนมองเห็นตอหม้อสะพานโผล่และบางจุดแห้งขอดจนสันดอนทรายโผล่

จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและเกษตรกรหลายหมู่บ้านในพื้นที่ต.ท่าม่วง, ต.สะแก และ ต.สตึก จำนวนมากที่อยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำมูล ต้องอาศัยน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร และการประมง ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

โดยเฉพาะชาวบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง ที่ทำอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังเกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 50 ครัวเรือนไม่สามารถเลี้ยงปลากระชังได้ต้องปล่อยกระชังทิ้งร้างทำให้ต้องสูญเสียโอกาสขาดรายได้ จากปกติทุกปีจะเลี้ยงได้ปีละ 3 - 4ครั้ง แต่ปัจจุบันเหลือเกษตรกรที่ยังเสี่ยงเลี้ยงอยู่เพียง 5 - 6 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือพากันอพยพไปขายแรงงานต่างจังหวัดเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวและจากสภาพน้ำมูลที่แห้งขอดทำให้ชาวบ้านนำรถบรรทุกขับลงไปตักทรายในลำน้ำมูลได้อย่างสบาย

ส่วนสาเหตุที่ทำห้าน้ำมูลแห้งขอดหนักในปีนี้ เนื่องจากไม่มีฝนตกและไม่มีน้ำเหนือจาก จ.นครราชสีมา ไหลมาสมทบเหมือนทุกปี

ด้าน นายณรงค์ วงษ์แสงรัตน์ อายุ 58 ปี ชาวบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ รายหนึ่ง บอกว่า ปีนี้น้ำในแม่น้ำมูลแห้งขอดสุดในรอบ 50 ปี ทำให้ชาวบ้านที่ทำอาชีพเลี้ยงปลากระชังเดือดร้อนหนักไม่สามารถเลี้ยงปลากระชังได้ต้องปล่อยกระชังทิ้งร้าง แล้วพากันไปหาทำงานรับจ้างยังต่างจังหวัด เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่บางรายมีหนี้สินสะสมจากการลงทุนเลี้ยงหลายแสนบาทจากผลกระทบดังกล่าว

จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาสำรวจเพื่อก่อสร้างฝายหรือเขื่อนยางเพื่อกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค ทำการเกษตรและประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังได้ตลอดทั้งปีเพราะหากปล่อยให้ประสบปัญหาเช่นนี้อาชีพเลี้ยงปลากระชังก็คงจะสูญหายไปในที่สุด



เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำมูลที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ราย



นายณรงค์ วงษ์แสงรัตน์ อายุ 58 ปี ชาวบ้านท่าเรือ

กำลังโหลดความคิดเห็น