xs
xsm
sm
md
lg

“แม่มูล” บุรีรัมย์ยังแห้งวิกฤตไม่สามารถสูบน้ำเลี้ยงนาข้าวได้-หวั่นเกษตรกรเปิดศึกชิงน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แม่น้ำมูล จ.บุรีรัมย์ ยังแห้งวิกฤตในรอบหลายปีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้ง 5 แห่งไม่สมารถสูบน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวช่วยชาวนาได้ หวั่นเกษตรกรเปิดศึกชิงน้ำเกิดความขัดแย้ง วันนี้ ( 19 ก.ค.)
บุรีรัมย์ - ระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังแห้งวิกฤตในรอบหลายปี ส่งผลให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้ง 5 แห่งไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวช่วยเหลือชาวนาได้ เพราะน้ำที่เหลือมีปริมาณต่ำหากสูบเกรงกระทบผู้เลี้ยงปลากระชังและเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำระหว่างเกษตรกรจนเกิดขัดแย้งได้

วันนี้ (19 ก.ค.) สถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ขณะนี้ยังมีสภาพตื้นเขินแห้งวิกฤตในรอบหลายปี ถึงแม้มีฝนตกต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำมูลได้ ทำให้ปีนี้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรทั้ง 5 แห่งที่ตั้งอยู่ในตำบลท่าม่วง มีพื้นที่นาข้าวในเขตบริการมากกว่า 10,000 ไร่ ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวช่วยเหลือเกษตรกรได้

เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำมูลมีสภาพตื้นเขินในรอบหลายปี หากเกษตรกรยังฝ่าฝืนสูบน้ำขึ้นมาใส่นาข้าวจะทำให้น้ำที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยแห้งขอด และจะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลากระชังทำให้ปลาขาดน้ำช็อกตายได้ หรือหากสถานีสูบน้ำสถานีใดสถานีหนึ่งสูบน้ำขึ้นมาใส่นาข้าวก็จะทำให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบน้ำมาขึ้นใช้เช่นกันจะทำให้น้ำที่มีอยู่ไม่สามารถแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำได้ทั่วถึง อาจทำให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรได้

กรณีดังกล่าวทำให้เกษตรกรส่วนมากยอมให้ทุกสถานีสูบน้ำงดการสูบน้ำไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำมูลให้สูงขึ้นพ้นจากภาวะวิกฤตจึงสามารถสูบน้ำมาใส่นาข้าวพร้อมกันได้ ถึงแม้ขณะนี้เกษตรกรส่วนมากต้องการน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่ขาดน้ำเพื่อหว่านปุ๋ยใส่นาข้าวให้เจริญงอกงามในช่วงนี้ก็ตาม ซึ่งต่างจากทุกปีที่เกษตรกรจะเริ่มสูบน้ำใส่นาข้าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทำให้ปีนี้ล่าช้ามากว่า 2 เดือนแล้ว

ด้าน นายสมบัติ จามิกรณ์ อายุ 60 ปี เกษตรกรบ้านท่าม่วง และนายอนุชิต เยี่ยมรัมย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.7 บ.ท่าม่วง ต.ท่าม่วง อ.สตึก ต่างเห็นตรงกันว่าจะไม่สูบน้ำในลำน้ำมูลที่มีสภาพตื้นเขินขึ้นมาใส่นาข้าวอย่างเช่นหมู่บ้านอื่นหากน้ำมูลยังมีปริมาณต่ำเพราะอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับหมู่บ้านอื่นหรืออาจทำให้เกิดปัญหาแย่งน้ำตามมาได้

กรณีดังกล่าวจึงเรียกร้องให้ทางภาครัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งเข้ามาสำรวจหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว โดยการทำฝาย แก้มลิง หรือสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำอุปโภคบริโภคทำการเกษตร เลี้ยงปลากระชังประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงต่อเนื่องมาตลอดหลายปี


กำลังโหลดความคิดเห็น