xs
xsm
sm
md
lg

“ค.3 ภาคประชาชน” ลอบคราบ กฟผ.-ไฟฟ้าถ่านหินเทพาหมดเปลือก เดินหน้าค้านสุดชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กว่า 10 ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน และชาวสงขลานับร้อยในเวที “ค.3 ภาคประชาชน” ช่วยกันลอกคราบ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ได้แบบโป๊และเปลือยหมดเปลือก ชี้ชัด กฟผ.มั่วข้อมูลทุกขั้นตอน ยืนกรานจะเดินหน้าคัดค้านให้ถึงที่สุด

 
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ สถาบันจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการจัดเวที ค.3 ภาคประชาชน “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พัฒนาหรือหายนะ ของคนสงขลา-ปัตตานี” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน สื่อมวลชน และประชาชนเข้าร่วมกว่า 300 คน

 
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่า “โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะทำให้มีการปล่อยโลหะหนักทั้งสารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม โดยเฉพาะแคดเมียมที่ กฟผ.ได้บอกว่าจะปล่อยออกสู่บรรยากาศแค่ 25 กิโลกรัม/ปี แต่แน่นอนว่าสสารเหล่านี้ก็จะอยู่กับโลกไปตลอด แต่สิ่งที่รับไม่ได้ที่สุดเลยคือ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของ กฟผ.ที่ผ่านมา ได้นำข้าวสารมาแจกให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม”

 
นายบรรจง นะแส สมาคมรักษ์ทะเลไทย นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน กล่าวว่า “การที่รัฐบาลพยายามผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะเนื่องจากผลผลิตถ่านหินนั้นมีบริษัทใหญ่ที่ถือสัมปทานเอาไว้อยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถนำสินค้าปล่อยออกได้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามเลือกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากอาจจะได้ และถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น วันนี้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่าจะเอายังไง เพราะโจทย์นี้ต้องแก้โดยเร็ว แต่หากไม่สามารถแก้ได้ผลกระทบก็จะตกอยู่กับพวกเราในระยะยาว”

 
อ.อัลดุลสุโก ดินอะ นักวิชาการศาสนาโรงเรียนจริยธรรมศึกษา มูลนิธิ กล่าวว่า “หากพูดในแง่ของหลักการทางศาสนาอิสลามคือ ความหายนะจะเกิดขึ้นบนแผ่นดิน และทะเลนั้น ไม่ได้มาจากธรรมชาติ หรือมีใครมาลงโทษ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นน้ำมือของมนุษย์เอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่จะก่อให้เกิดหายนะ ด้วยทั้งแรงทรัพย์ แรงกาย และแรงใจที่มีให้ถึงที่สุด”

 
จากนั้นเวลาประมาณ 15.30 น. นายสุวรรณ อ่อนรักษ์ แกนนำเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.สงขลา พร้อมกับชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “ขอให้สงขลาปลอดจากถ่านหิน” โดยมีเนื้อหาใจความว่า

 
“สภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา เป็นเครือข่ายของชุมชนที่มีองค์กรสมาชิกกว่าหนึ่งร้อยตำบลในจังหวัดสงขลา มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อความพยายามของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่จะผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหอนเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ บนเนื้อที่ริมทะเลอันขาวสะอาดของตำบลปากบางเทพากว่า 2,962 ไร่ ทั้งนี้ ในบรรดา 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา อำเภอเทพา เป็นอำเภอที่ยังรักษาความเป็นธรรมชาติที่ใสสะอาดไว้ได้มากที่สุด เพราะที่นี่มีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยมาก เทพาควรเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการเกษตรที่ไร้สารพิษ ควรเป็นแหล่งประมง และการเพาะเลี้ยงชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ ควรเป็นแหล่งปศุสัตว์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ควรมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาสร้างความปนเปื้อนบนแผ่นดิน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีข้ออ้างประการสำคัญคือ อำเภอเทพา เป็นพื้นที่ยากจน แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะมีการจ้างงานเพียงแค่ 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกร ไม่ได้เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ แต่จะกลับนำมลพิษจำนานมากทิ้งไว้ที่นี่ เกษตรกร ชาวประมง คนทำนากุ้ง ธุรกิจการท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไปจะมีชีวิตที่ยากจนลงเพราะมลพิษที่ส่งผลต่ออาชีพ และสุขภาพ โรงไฟฟ้าจะนะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,600 เมกะวัตต์แล้ว มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการใช้พลังงานของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (พัทลุง ตรัง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ถึง 2 เท่า จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะมาก่อสร้างที่นี่อีก

 
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ขอร่วมเป็นอีกพลังในการหนุนเสริมคนเทพาในการแสดงออกซึ่งการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ขอประกาศจุดยืนที่จะเคียงข้างคนเทพาในการปกป้องแผ่นดินเกิดให้ปราศจากมลพิษ และขอให้รัฐบาลทบทวน และยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อย่าให้คนเทพา และคนสงขลาต้องมาแตกแยกกันมากกว่านี้เลย”

 
ก่อนที่ท้ายสุด ทางผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งชาวบ้านที่เข้าร่วมในครั้งนี้ ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ และจุดยืนในเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาว่า “อย่างไรก็แล้วแต่ ในโลกนี้ไม่มีถ่านหินสะอาดไม่ว่าจะประเภทไหนก็ตาม จากข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับทั้งจากทางการเรื่องพื้นที่ในการสร้างที่เหมาะสม การส่งผลกระทบที่เล็กน้อย หรือแม้กระทั่งการพูดจูงใจถึงข้อดีต่างๆ มากมายในการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่บิดเบือน หลีกเลี่ยงข้อมูลที่แท้จริง เพราะฉะนั้นเราทุกคนจะต้องต่อสู้อย่างจริงจัง เพื่อจะให้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ดีจะได้อยู่กับพวกเราไปจนชั่วลูกชั่วหลาน





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น