xs
xsm
sm
md
lg

สงขลาส่งตร.400 นายคุมเวทีถกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชุมชนระดมป้อง‘เทพา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา และท่าเรือขนส่งถ่านหิน จ.สงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในวันที่ 27-28 กรกฎาคมนี้ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ท่ามกลางการคัดค้านโครงการดังกล่าวจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.สงขลา ที่เรียกร้องประชาชนให้ออกมาปกป้องท้องถิ่นของตนเองให้ปลอดมลพิษจากถ่านหิน

พล.ต.ต.อัมพร บัวอำพร ผบก.ภ.จ..สงขลา เปิดเผยว่า ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 400 นาย เพื่อเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย ในจำนวนนี้มี 150-200 นาย จะปฏิบัติการในพื้นที่ที่จัดการประชุม โดย ผวจ.สงขลา มีอำนาจเต็มในการสั่งการ โดยคาดว่าจะมีชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าเทพาเข้าไปแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะผ่านไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม หากชาวบ้านมีพฤติกรรมปลุกระดม หรือนำไปสู่ความวุ่นวายต่างๆ ก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามที่ ผวจ.สงขลา ได้ออกประกาศไป

“การสั่งการทั้งหมดเป็นดุลพินิจของ ผวจ.สงขลา ซึ่งจะมีกำลังตำรวจเป็นหลัก และมีกำลังทหารคอยสนับสนุน ยืนยันว่าถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย หรือก่อความวุ่นวาย ก็สามารถรวมตัวกันได้”พล.ต.ต.อัมพร กล่าว

ด้านพล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่4และผอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่าในการจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นสร้างโรงไฟฟ้าหนนี้ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สั่งการให้ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทุกฝ่าย ทั้ง ตำรวจ ทหาร และ พลเรือน ประชุม วางแผนในการ รักษาความสงบเรียบร้อย สำหรับโครงการดังกล่าว จากการรายงานหน่วยงานในพื้นที่ ทราบว่าประชาชนในพื้นที่ ส่วนใหญ่ ให้การสนับสนุน การเกิดขึ้นของโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่ยังคัดค้าน เนื่องจากมีข้อมูลว่า ถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง อาจจะมีมลภาวะ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะกระทบกับอาชีพการทำประมง ซึ่งในความกังวลของกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถือเป็นปกติของโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและมีเอ็นจีโอ เป็นผู้ให้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปกติ ดังนั้นเจ้าของโครงการคือ กฟผ.จะต้องไปสร้างความเข้าใจ ในสิ่งที่ประชาชนที่คัดค้าน

พล.ท.ปราการ กล่าวอีกว่า เป็นห่วงว่า จะมีผลกระทบ ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มผู้คัดค้าน ถ้าคัดค้านด้วยความบริสุทธิ์ใจ จะต้องฟังเหตุผลของ กฟผ.เพราะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นโครงการของรัฐบาลที่จำเป็นต้องจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศและกอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าไม่มีนโยบายเข้าไปตรวจสอบ หรือติดตามกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา แต่อย่างใดและเชื่อว่าช่วงวันที่ 27-28กรกฎาคม จะไม่มีกลุ่มผู้คัดค้านไปขัดขวาง หรือ ก่อกวนการรับฟังความคิดเห็นของคน อ.เทพา อย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.สงขลา” ขอให้สงขลาปลอดจากถ่านหิน”ประชุมกันที่สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พร้อมออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการดังกล่าวว่า บรรดา16 อำเภอของ จ.สงขลา อ.เทพา เป็นอำเภอที่ยังรักษาความเป็นธรรมชาติดที่ใสสะอาดไว้ได้มากที่สุด เพราะที่นี่มีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยมาก เทพาควรเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการเกษตรที่ไร้สารพิษ ควรเป็นแหล่งประมงและการเพาะเลี่ยงชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ ควรเป็นแหล่งปศุสัตว์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ควรมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาสร้างความปนเปลื้อนบนแผ่นดิน

การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา มีข้ออ้างประการสำคัญคือ อ.เทพา เป็นพื้นที่ยากจน แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะมีการจ้างงานเพียงแค่ 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกร ไม่ได้เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ แต่จะกลับนำมลพิษจำวนมากมาทิ้งไว้ที่นี่ เกษตรกรชาวประมง คนทำนากุ้ง ธุรกิจการท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป จะมีชีวิตที่ยากจนลงเพราะมลพิษที่ส่งผลต่ออาชีพและสุขภาพ โรงไฟฟ้าจะนะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,600 เมกวัตต์แล้ว มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการใช้พลังงานของ7จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ถึง 2 เท่า จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะมาก่อสร้างที่นี่อีกแล้ว เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนสงขลา จึงขอร่วมเป็นอีกพลังในการหนุนเสริมคนเทพาในการแสดงออกซึ่งการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและขอประกาศจุดยืนที่จะเคียงข้างคนเทพาในการปกป้องแผ่นดินให้ปราศจากมลพิษและให้รัฐบาลทบทวนและยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อย่าให้คนเทพาและคนสงขลา ต้องมาแตกแยกกันมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น