xs
xsm
sm
md
lg

โรค EMS ระบาดผู้เลี้ยงกุ้งประจวบฯ ขาดทุนยับถึงขนาดต้องเลิกเลี้ยงไปหลายราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเดชา บรรลือเดช เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ประจวบคีรีขันธ์ - วิกฤตนากุ้งประจวบคีรีขันธ์ เจอโรคตายด่วน หรือโรค EMS ระบาดหนัก ทำผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุนยับเยิน ถึงขนาดต้องเลิกเลี้ยงกุ้งกันไปหลายราย เนื่องจากทนแบกรับภาวะขาดทุนติดต่อกันมาหลายปีไม่ไหว ขณะที่กว่า 80% ต้องหยุดเลี้ยงเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการแก้ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (5 มิ.ย.) นายเดชา บรรลือเดช เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติด้านประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังประสบปัญหาใหญ่จากการเกิดโรคตายด่วน หรือโรค EMS ระบาดในนากุ้งขาวที่ชาวบ้านเลี้ยงเพื่อจำหน่ายทั้งจังหวัด โดยประสบปัญหาหนักในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด ซึ่งมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จำนวน 270 ราย รวมพื้นที่เกือบ 3,000 ไร่ ที่ทำนากุ้งต้องประสบปัญหากุ้งตายเฉียบพลัน เป็นเหตุทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนกันรายละหลายแสนบาท จนบางรายถึงขั้นต้องเลิกอาชีพเลี้ยงกุ้งไปอย่างถาวร และขณะนี้เกษตรกรที่เหลืออีกกว่า 80% ต้องหยุดเลี้ยงกุ้งเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อรอการแก้ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าโรคตายด่วนนี้จะระบาดในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาตั้งแต่ต้นปี 2555 แต่ก็ยังไม่มีวิธีการในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมที่จะสามารถป้องกันโรคตายด่วนได้ เกษตรกรจึงต้องทนแบกรับภาวะความเสี่ยงหากเลี้ยงต่อก็จะต้องเสี่ยงต่อภาวะขาดทุนจากการที่กุ้งตายเฉียบพลัน

นายเดชา บรรลือเดช เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวในอำเภอสามร้อยยอด ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ลักษณะการตายด่วนของกุ้งขาวเกิดจากตับวายเฉียบพลันในกุ้ง จากช่วงที่เริ่มระบาดในระยะแรกพบว่า กุ้งที่มีอายุระหว่าง 40-60 วันถึงจะตาย แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าโรคตายด่วนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลทำให้ลูกกุ้งที่มีอายุเพียงแค่เพียง 10 วันก็ตายแล้ว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังไม่มียาชนิดใดมาหยุดการระบาดของโรคได้

“จากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในอำเภอสามร้อยยอด ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน และวิเคราะห์หาสาเหตุที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคตายด่วนดังกล่าวแล้วพบว่า น่าจะเกิดจาก 4 สาเหตุหลักคือ พันธุ์ลูกกุ้งที่นำมาเลี้ยง อาหารกุ้ง สภาพของดิน และน้ำในบ่อกุ้ง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงคาดว่าน่าจะเป็นที่มาของการระบาดของโรค”

“ในส่วนของภาครัฐได้นำน้ำ และดินไปวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ แต่ในขณะนี้ยังไม่ทราบผล ถ้ายังไม่สามารถหาวิธียับยั้งโรคตายด่วนได้คาดว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอาจจะต้องเลิกอาชีพการเลี้ยงกุ้งไปอย่างถาวร เนื่องจากบางรายต้องไปกู้เงินเพื่อมาลงทุน และต้องประสบต่อภาวะขาดทุนซ้ำซากจนไม่สามารถแบกรับภาวะการขาดทุนได้ เป็นเหตุทำให้เกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงกุ้งอย่างเด็ดขาด” นายเดชา บรรลือเดช เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวในอำเภอสามร้อยยอด กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น