คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์การก่อความไม่สงบ และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งย่างเข้าสู่ปีที่ 11 ในขณะนี้ ถ้าจะดูถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหา หรือการบริหารจัดการจำเป็นที่จะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งเป็น 2 ส่วนที่เป็นสถานการณ์ใน “ด้านลบ” และ “ด้านบวก”
ใน “ด้านลบ” คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นประชาชน และย่านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงการโจมตีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งด้วยอาวุธปืน และระเบิดแสวงเครื่องยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยใน 10 วันสุดท้ายก่อนที่จะพ้นห้วงของเดือนถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ขบวนการโจรก่อการร้ายได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการประกาศให้หน่วยงานของรัฐทราบล่วงหน้าถึงการปฏิบัติการทางทหาร และก็เป็นไปตามประกาศนั้น
โดยกลุ่มก่อการร้ายลงมือปฏิบัติการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.เป็นต้นมา ด้วยการวางระเบิดแสวงเครื่อง เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองครูที่ จ.ปัตตานี ต่อด้วยการก่อวินาศกรรมย่านการค้า และบันเทิงในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเขตเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งทั้ง 2 เมืองเป็นเมืองเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ที่อยู่ติดกับประเทศมาเลเซีย และเป็นประตูเข้า-ออกระหว่าง 2 ประเทศ จนทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์สูญเสียชีวิต จำนวน 6 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย
ตามต่อด้วยปฏิบัติการก่อวินาศกรรมเสาไฟฟ้าแรงสูงใน อ.ธารโต จ.ยะลา ได้รับความเสียหายถึง 11 ต้น และระเบิดแสวงเครื่องทำร้ายเจ้าหน้าที่ในหลายอำเภอของ จ.ปัตตานีและ จ.นราธิวาส รวมแล้วกว่า 10 เหตุการณ์
ที่โหดเหี้ยม และรุนแรงกว่าเหตุครั้งอื่นๆ คือ การฆ่าแล้วเผาเจ้าหน้าที่ทหารใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ยังมีขบวนการกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งที่ไม่ตอบรับ “แนวทางสันติวิธี” ของกองทัพโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และการเปิด “พื้นที่พูดคุย” กับกลุ่มผู้เห็นต่างที่ผ่านมายังประสบกับปัญหา ยังไม่สามารถพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มก่อการร้าย “ตัวจริง” ทั้งในพื้นที่ และในประเทศเพื่อนบ้าน
รอมฎอนปีนี้ยังยังเป็นเดือนที่แปดเปื้อนไปด้วย “คาวเลือด” และ “หยาดน้ำตา” เหมือนกับ 11 ปีที่ผ่านมา เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้
ส่วน “ด้านดี” ในมิติของการดับไฟใต้นั้น ล่าสุด ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดพื้นที่ด้วยการเปิดเวทีให้แก่ “สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “กลุ่มเปอร์มาส” ซึ่งเป็นระดับผู้นำองค์กรได้พบปะพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐ ทั้ง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจระหว่างกัน และหาทางออกร่วมกันในสิ่งที่ไม่เข้าใจ
เนื่องจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ หรือกลุ่มเปอร์มาส ถูกมองว่า เป็นปีกทางการเมืองของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” จากเจ้าหน้าที่บางฝ่าย จนทำให้มีการติดตาม และตรวจค้นสถานที่พักพิงของสมาชิก และที่ทำการสหพันธ์บ่อยครั้ง และมีอยู่หลายครั้งที่สมาชิกของกลุ่มเปอร์มาสเองที่เข้าไปมีส่วนในการก่อเหตุร้าย จึงกลายเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้แก่สังคม และสร้างความหวาดระแวงจนเหมือนกับกลุ่มเปอร์มาสกับเจ้าหน้าที่รัฐยืนอยู่คนละฝ่าย และเป็นปรปักษ์ต่อกัน
ดังนั้น การที่ พล.ท.ปราการเปิด เวทีให้มีพื้นที่เพื่อการพูดคุยแสดงจุดยืนของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทำแบบทางการ และแบบสาธารณะ โดยมี “สื่อมวลชน” เข้าร่วมเวทีรับฟังปัญหา และแสดงความคิดเห็น จึงเป็น “ข่าวดี” ที่เชื่อได้ว่าการสลายความหวาดระแวงระหว่างสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ กับหน่วยงานของรัฐจะเป็น “ทางออก” ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมายาวนานระหว่างหน่วยงานของรัฐ และกลุ่มนักศึกษา-ปัญญาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
และ “ข่าวดี” อีกประการหนึ่ง คือ การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร่วมกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการเก็บ “ดีเอ็นเอเจ้าหน้าที่” ซึ่งปฏิบัติการอยู่ใน 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยเฉพาะอาสาสมัครทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดน และอื่นๆ รวมทั้งเก็บหลักฐานจากอาวุธปืนทุกกระบอกของเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน คือ การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกันก็ดี การมีผู้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมก็ดี ย่อมที่จะทำการพิสูจน์ได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐคนไหน กลุ่มไหน หรือชุดไหน ซึ่งในอนาคตหลังเกิดเหตุโจมตี หรือปะทะ เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ตกเป็น “จำเลย” โดยถูกกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่
อีกหนึ่ง “ข่าวดี” คือ วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้ “นโยบายการเมือง” เข้าหามวลชนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้จากทุกโครงการที่ลงไปสู่พื้นที่เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่คนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นโครงการซ่อม หรือสร้างถนนหนทางในชนบท การส่งชุดแพทย์ให้การรักษาพยาบาล การส่งเสริมอาชีพศาสนาสัมพันธ์ และอื่นๆ
เมื่อสอบถามชาวบ้านในพื้นที่จึงพบว่า โครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งได้ประโยชน์ต่อประชาชน แม้ว่าในการดำเนินการอาจจะมีเสียงนินทาถึงเรื่องของเงินทอนเกิดขึ้นบ้าง ก็ดีกว่าในอดีตที่มีการใช้งบประมาณไปแบบอีลุ่ยฉุยแฉก คิดเอง ทำเอง โดยที่ไม่ได้ประโยชน์ต่อคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
นอกจากนี้มี “ข่าวดี” สุดท้ายที่สอดคล้องต่อการแก้ปัญหาในการดับไฟใต้คือ 2 ปีที่ผ่านมา “กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น” ในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่มีการร้องเรียนจากผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง หรือถูกนำไปควบคุมตัวยังศูนย์ซักถามหรือที่อื่นๆ ในกรณีถูกซ้อม ทรมาน ทำร้าย บังคับ หรือขู่เข็ญจากเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกับในอดีต มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยตามหลักกฎหมายและสิทธิมนุษย์ชนในระดับที่หลายฝ่ายรับได้ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่สอดคล้องต่อข้อเรียกร้อง ทั้งของคนในพื้นที่ และองค์กรสิทธิต่างๆ ได้เรียกร้องกันมา
วันนี้นับว่า “ยุทธศาสตร์” ในการดับไฟใต้มีการก้าวไปข้างหน้าอย่างถูกทางแล้ว และจะต้องดำเนินการในด้านการ“ยุติธรรม” และ “งานพัฒนา” เพิ่มดีกว่าเดิม และมากกว่าเดิม เพื่อที่จะสลายสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้ในด้านการโฆษณาชวนเชื่อ ให้เห็นว่าเป็นการ “กล่าวร้าย” ต่อรัฐ
รวมทั้งถ้างานด้านยุติธรรม และด้านการพัฒนาสร้างความพึงพอใจให้แก่คนในพื้นที่ มวลชนจะเดินมาหาเจ้าหน้าที่รัฐเอง โดยที่ไม่ต้องไปให้วิธีการลาก จูง หรือการสร้างภาพเพื่อให้เป็นสิ่งลวงตาต่อสาธารณะอีกต่อไป
ปัญหาเดียวที่วันนี้ กอ.รมน.ยังต้องใสใจ คือ เรื่องของการสกัดกั้นการปฏิบัติการด้วยความรุนแรงต่อเป้าหมาย“อ่อนแอ” ทั้งในด้านบุคคล และย่านการค้าการลงทุนที่ยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งเป็น “ข่าวร้าย” ที่จะเป็นการกลบ“ข่าวดี” ที่เกิดขึ้น และทำให้คนทั่วไปเห็นว่า 11 ปีที่ผ่านมาปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังอยู่ในวงจรเดิมๆ
จะทำอย่างไรต่อกลุ่มขบวนการที่ยังไม่ยอมรับการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยสันติวิธี และยังไม่รับข้อเสนอในการพูดคุยเพื่อหยุดความรุนแรง รวมทั้งเรื่องที่ว่าจริงหรือไม่ ที่มีการกล่าวอ้างจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช ) บางคนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากพรรคการเมือง 2 พรรค อยู่เบื้องหลัง
ตรงนี้จึงยังเป็น “โจทย์” ข้อที่ยากแก้ของกองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาทางออกเพื่อให้การดับไฟใต้เดินหน้าได้ตรงประเด็น
เพราะถ้าทุกเดือนรอมฎอนยังมีผู้บริสุทธิ์กลายเป็นเหยื่อของสถานการณ์ และยังมีการทำลายธุรกิจการค้าการลงทุนในหัวเมืองเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. คงจะบอกสังคมได้ไม่เต็มปากว่า ชายแดนใต้วันนี้ดีกว่าเดิม