นายกรัฐมนตรีประชุม สมช. วางกลยุทธ์ข่าวกรองเพิ่มเสถียรภาพประเทศ แจงไม่ได้วางแผนสืบทอดอำนาจ ยอมรับเหตุระเบิดช่วงรอมฎอนมีทุกปี ด้านเลขาฯ สมช. เดินหน้าแผนบริหารจัดการชายแดน พร้อมรับเออีซี - เขต ศก. พิเศษ เตรียมบินจีนหารือปมส่งอุยกูร์ ส่วนไฟใต้เชื่อ ปชช. พื้นที่ประณามผู้ใช้ความรุนแรง
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า ที่ประชุมหารือ และมอบหมายงานในเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์งานทางด้านการข่าวกรองที่ต้องสนับสนุนงานกิจกรรมหลัก ๆ 3 ด้านในระยะ 5 ปี ข้างหน้า ได้แก่ ด้านความมั่นคงการป้องกันประเทศ ภัยคุกคามรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ เทคโนโลยี หรือ ไซเบอร์ ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการค้าชายแดนที่ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเดินได้ ทั้งการค้าชายแดน และยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น การข่าวกรองจะต้องสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด แต่เรื่องความมั่นคงจะต้องเป็นหลักที่จะสร้างเสถียรภาพทั้ง การเมือง การทหาร และเศรษฐกิจการค้าการลงทุนบนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจในการลงทุน รวมทั้งการประเมินสถานการณ์โลกในปัจจุบันไปถึงอนาคตใน 5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ความขัดแย้งจะเกิดที่ไหนอย่างไร การพัฒนากำลังรบหรือการปรับโครงสร้างต่าง ๆ จะทำอย่างไร การสร้างความเข้มแข็ง หรือจะเพิ่มหน่วยรบที่ต้องครอบคลุมให้หมด ดังนั้น สมช. จะมีหน้าที่วิเคราะห์ภัยคุมคามทั้งหมดนำไปสู่หน่วยงานด้านความมั่นคง รัฐบาล และข้าราชการที่จะต้องไปกำหนดแผนรองรับ และทั้งหมดจะต้องไปผูกพันกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้างหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนวางใจไม่ได้วางยุทธศาสตร์ไว้เพื่อสืบทอดอำนาจวางไว้ แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน ความมีเสถียรภาพในประเทศ ต้องเตรียมแผนไว้โดยต้องวาดอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น กำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ต่าง ๆ และนำไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ
ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์วางระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขณะนี้เนื่องจากเกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องหลายครั้งในเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นอย่างนี้ทุกปี เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาต้องถือว่าฝ่ายความมั่นคงดูแลได้ดีในเรื่องของการบูรณาการพลเรือนและทหาร ข้อสำคัญคือประชาชนส่วนใหญ่เกินร้อยละ 80 ที่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลในขณะนี้ แต่เป็นธรรมดาในเมื่ออีกฝ่ายยังไม่ยอมยุติ ก็มีคนบางกลุ่มบางฝ่าย ฝ่ายนั้นก็มีหลายส่วนด้วยกัน ฝ่ายกรเมือง ฝ่ายการทหาร คนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นเก่าที่สู้รบกันมานานแล้วในความรู้สึกของเขาก็คงเหน็ดเหนื่อย ส่วนนี้ก็เข้ามาในกระบวนการพูดคุยสันติสุข แต่ส่วนคนหนุ่มยังถูกฝังชิปไว้แล้ว เราก็ต้องทำความเข้าใจกับเขาให้มีน้อยลง
“ผมถามกลับไปซิว่า ไม่ว่าจะการต่อสู้ใด ๆ ก็ตามแล้วทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บและสูญเสียนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้ากับทหารกับเจ้าหน้าที่ผมไม่ว่า เพราะว่ามันต้องทำงาน ต้องถืออาวุธ ต้องปะทะ เพราะฉะนั้นต้องไม่มีใครถืออาวุธได้นอกจากเจ้าหน้าที่ หรือจะให้เขาถืออาวุธแล้วยิงประชาชนไปเรื่อยๆ ยิงคนไทยไปเรื่อยๆ ยิงข้าราชการทหารตำรวจไปเรื่อย ๆ เพราะว่าไม่ใช่ครอบครัวเราหรืออย่างไร”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้นั้นก็คืบหน้าตามลำดับ การพูดคุยไม่ใช่พูดคุยแล้วตั้งโต๊ะแถลงข่าว มีการพูดคุยทั้งในระดับผู้นำ ระดับแกนนำของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ก็เข้าร่วมเยอะ แม้กระทั่งผู้ที่มายังไม่เห็นชอบด้วยกันทั้งหมดเลย เขายังรวมกันไม่ได้มากมาย แต่ส่วนใหญ่เราก็ได้ติดต่อในช่องทางของแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว พอเรายกขึ้นมาเป็นประเด็น ก็มุ่งหวังจะให้จบพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มันไม่ใช่ ยิ่งเร่งก็จะยิ่งกลับมากดดันเราด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะเราอยากให้จบเราก็ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่เขาเรียกร้อง มันทำได้หรือไม่เล่า ไม่ว่าจะเขตปกครองอะไรก็ตาม ต้องอยู่ในประเทศไทย แล้วดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น มีปัญหาทางกฎหมายอย่างไร ไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็มีคณะกรรมการลงไปดูแลทั้งหมด เว้นแต่มีคดีฆ่าคนตาย หลักฐานชัดเจน ก็ดำเนินการตามคดีอาญา มีมาตรการทางกฎหมายต่อไป
“เรื่องวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ที่หาว่าเราไปบิดเบือนหรือไปห้ามเขา ก็ไม่ได้ห้ามซักอย่างเลยในตอนนี้ ทำได้ทุกอย่าง เพียงแต่ตอนนี้ไทยพุทธทำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะอยู่ในพื้นที่เขาซะส่วนใหญ่ เขาก็ระมัดระวัง ต้องเป็นกำลังใจให้ทั้งสองกลุ่ม เพราะไม่ว่าจะไทยพุทธ ไทยมุสลิมก็เป็นคนไทยทั้งสิ้น อยู่ภายใต้แผ่นดินไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งแล้ว ทุกศาสนาในโลกอยู่ในประเทศไทยได้ทั้งหมด ฉะนั้น ประเด็นปัญหานี้ต้องไปถามผู้ที่ก่อเหตุว่าเขาทำเพราะอะไร แล้วจะเลิกได้เมื่อไหร่ ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจเดือดร้อน ผมถามว่าใครเดือดร้อน ประชาชนที่อยู่ใน 3 จังหวัดทั้งหมดเขาเดือดร้อน เพราะว่าการดำเนินการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มันไม่เกิดขึ้น การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ทำไม่ได้ แล้วใครได้รับผลกระทบ ก็ประชาชนทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝากถามว่า คนที่ทำความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ วันหน้าจะฝากให้เป็นผู้นำได้ต่อไปหรือไม่ ตามที่เขาอยากจะทำ ถ้าเห็นว่าดี ตนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร วันนี้บอกแล้วว่าประเทศต้องอยู่รวมกันแบบนี้ มีปัญหาข้อขัดแย้งก็มาแก้ไขกันด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ยุติธรรม ถ้าไปต่อยตีกันมาก ๆ ก็เสียหายทั้งหมด
ด้าน นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาสภาธิการสภความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาติบ้านเมืองในหลาย ๆ เรื่อง เรื่องแรกคือการทำให้งานข่าวกรองมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้งานด้านข่าวกรองมีการพัฒนา มีกลไกการขับเคลื่อนที่ชัดเจน และสามารถสร้างความเชื่อมั่นงานข่าวกรองให้ประเทศได้ เรื่องที่สอง เป็นการบริหารจัดการชายแดน โดยรัฐบาลมีข้อสั่งการให้ สมช. จัดทำแผนบริหารจัดการชายแดน เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเผชิญสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ทั้งในเรื่องของเออีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสิ่งที่แปรเปลี่ยน คือ การก่อตัวของภัยคุกคามที่จะมาพร้อมกับการเปิดประเทศ ที่จะมาจากความไม่พร้อมของพื้นที่ชายแดน และจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลงกัน ดังนั้น ความพร้อมของการบริหารจัดการชายแดนจะต้องมีการวางแผนก่อน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของการแจ้งเตือนภัย ที่จะทำอย่างไรให้มีการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภาคประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดวิกฤต หรือสถานการณ์ภัย เช่น เรื่องของโรคระบาด ที่อาจมาจากพื้นที่ชายแดน ซึ่งต้องทำให้หน่วยราชการต่าง ๆ มีความพร้อม เกิดความเชื่อมโยงและทำงานอย่างบูรณาการได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นที่ภูมิภาคให้ความห่วงใย เช่นเดียวกับการบริหารจัดการชายแดน อาทิ ผู้หลบหนีเข้าเมือง การก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยในที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่ สมช. เสนอทุกประการ
นายอนุสิษฐ กล่าวถึงกรณีทางการไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 ราย ให้กับประเทศจีนว่า สมช. ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับชาวอุยกูร์ทั้ง 109 ราย ให้กับไปยังประเทศจีน นี่คือ สิ่งที่เราต้องติดตามโดยเร่งด่วน โดยตนจะเป็นผู้นำคณะของ สมช. เดินทางไปประเทศจีนในวันพุธนี้ (15 ก.ค.) โดยสิ่งที่เราจะไปหารือกับทางการจีนก็คือกระแสของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือการเข้าใจผิดการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับในครั้งนี้ ซึ่งทางสื่อมวลชน และประชาคมต่าง ๆ มีความเข้าใจไม่ชัดเจน เราต้องการไปเพื่อสะท้อนให้จีนรับทราบ และอธิบายในสิ่งที่เราทำ และเรายืนยันว่า สิ่งที่เราทำเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาปีกว่า ๆ กระบวนการเหล่านี้มีการปรึกษาหารือ และตรวจสอบในแง่ของข้อกฎหมาย และกติการะหว่างประเทศอย่างครบถ้วน รวมทั้งในกรณีที่องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ จะเข้าไปตรวจเยี่ยมหลังจากนี้ ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องไปหารือกับทางการจีน
“จริง ๆ แล้วงานของอุยกูร์ประเทศไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ ทั้งสิ้น เราต้องยืนยันประเด็นนี้ต่อสังคม รวมถึงในสื่อ ฉะนั้น การที่เรานำข้อมูลเหล่านี้ไปขยายผล ผมคิดว่าเริ่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง และยิ่งไปขยายผลในทางที่เป็นลบกับประเทศ ผมคิดว่าชาติบ้านเมืองคงไม่ได้ประโยชน์อะไร ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมอยากจะชี้แจงให้ทราบ” เลขาฯ สมช. กล่าว
นายอนุสิษฐ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไปว่า ตนคิดว่าในขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขกำลังเดินไปนั้น การหาความยุติธรรมเรื่องการเยียวยา การชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด ต้องเดินควบคู่กันไป ซึ่งการพูดคุยครั้งต่อไปนั้น สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความห่วงใยคือจะทำอย่างไร ที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาในสิ่งที่บางครั้งเราแก้ได้เลย แต่ยังมีบางกรณีที่เรายังไม่ได้พูดคุยกัน เพราะเมื่อพูดคุยกันแล้วจะเล็งเห็นว่าปัญหาเรื่องที่เล็กๆน้อยๆเป็นการกดทับอัตลักษณ์ ซึ่งเราไม่เข้าใจว่าเขาคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งทุกวันนี้ประชาชนในพื้นที่ดูเหมือนเข้าใจในเรื่องของสันติสุขมาพอสมควรแล้ว เขามีความหวัง มีอนาคต จากการพัฒนาในพื้นที่ จากการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ได้ลงไปช่วยอย่างต่อเนื่อง
“ผมเชื่อว่า ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ากลุ่มคนที่ดำเนินการใช้ความรุนแรง สิ่งสำคัญคือ ท่านได้ตอบคำถามกับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ว่า ท่านทำอย่างนั้นจะทำให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ได้อย่างไร ท่านจะใช้กระบวนการพัฒนาให้เยาวชน ให้ลูกหลานของเราเติบโตมาได้อย่างไร โดยปราศจากความหวาดกลัว ความหวาดระแวง ฉะนั้น ผมขอยืนยันว่า คนที่ก่อเหตุเหล่านี้ ต้องได้รับการประนาม และการประณามไม่ได้มาจากรัฐบาลโดยตรง ผมเชื่อว่า ประชาชนหลายส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วย ซึ่งจะเห็นภาพจากการรวมตัวของประชาคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาประณามการกระทำที่เกิดขึ้น” นายอนุสิษฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เรายังคงประสานงานกับทางการมาเลเซีย ยืนยันว่า มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกแต่ผู้เดียว และขณะนี้ทางมาเลเซียก็ทำงานหนัก ตนได้พบกับเลขาธิการ สมช. มาเลเซีย ซึ่งเป็นช่องทางการประสานงานเดียวของรัฐบาล และเพื่อให้เกิดเอกภาพ ทั้งนี้ มาเลเซียทำงานอย่างเต็มที่ ช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าสันติสุขจะเกิดขึ้น ทางมาเลเซียก็จะได้ประโยชน์ด้วย