xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “สีเขียว” ไฟเขียวให้คนติดคดีมั่นคงกลับเยี่ยมบ้านได้ช่วงรอมฎอน?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...  ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
หลังการก่อวินาศกรรมบึ้มป่วนนครยะลาเมื่อวันที่ 14-16 พ.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสังคม เนื่องจากระเบิดกว่า 40 จุดที่เกิดขึ้นมีเจ้าหน้าที่ระดับ “นายพล อย่าง พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ วังสุภา ผบก.ภ.จว.ยะลา ถูกย้ายขาดจากตำแหน่งไปนั่งตบยุงที่ ศปก.ตร. ซึ่งถือว่าเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
มีการนินทากันขรมในหมู่ของคน “สีกากี” ถึงการกลายเป็นเครื่องเซ่นในครั้งนี้ว่า ไม่ใช่เป็นการบกพร่องในการป้องกันเหตุร้าย แต่ “ผู้การยะลา” ถูกย้ายเพราะพรีเซ็นต์ให้ผู้เป็นนายฟังไม่ไม่เข้าใจ เพราะชั่วชีวิตเป็นได้แค่นักรบในสนาม ไม่ใช่นักรบเพาเวอร์พอยนต์ที่รบเก่งในห้องประชุม
 
สิ่งที่สังคมติดตามเรื่องนี้ด้วยความสนใจเพราะมีการคาดโทษจาก “สีเขียว” ว่าถ้าเกิดเหตุอย่างที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลนครยะลาขึ้นใน จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส “ผู้การของพื้นที่” ต้องเก็บกระเป๋าไปนั่งตบยุง หรือจะบี้สิวก็ได้ที่ ศปก.ตร.เหมือนกับ “ผู้การยะลา”
 
การใช้คำพูดข่มขวัญน่าจะได้ผล เพราะตั้งแต่วันนั้นมีผู้คนบอกกล่าวกันว่า เริ่มเห็นตำรวจออกมาเดินเพ่นพ่านในเขตเทศบาลหลายแห่งที่เป็นหัวเมืองหลักใน 4 จังหวัด หรือใน 7 หัวเมืองชายแดนใต้ที่ถูกสั่งให้ระแวดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นหัวเมืองทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน หากปล่อยให้มีการก่อวินาศกรรมจะส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่กว่าเดิม เพราะเดิมๆ ขณะนี้ก็แย่อยู่แล้ว
 
สุดท้ายระเบิดที่ 7 หัวเมืองไม่เกิด แต่เหตุร้ายก็เกิดกับบุคลากรทางการเมืองรับการเปิดเทอมเมื่อ นายอับดุลรอฮีม ดือเระ ครูโรงเรียนบ้านแบรอ และ นายสะมะแอ มูซอ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.หนองแรด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามถล่มเสียชีวิตคารถเก๋งทั้ง 2 คน ซึ่งขณะนี้ตำรวจยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่าการตายของคนทั้ง 2 เป็นการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้าย หรือเป็นการแก้แค้นในเรื่องส่วนตัวหรือไม่
 
แต่ถ้าฟังเสียงของคนในพื้นที่ต่างเชื่อว่า เป้าหมายของคนร้ายอยู่ที่นายสะมะแอ มูซอ ผู้ใหญ่บ้าน สาเหตุมาจากความขัดแย้งในเรื่องการแย่งชิงตำแหน่งผู้นำท้องที่ ส่วนครูอับดุลรอฮิม เป็นเหยื่อเพราะนั่งอยู่ในรถยนต์คันเดียวกัน
 
หากเป็นอย่างที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูล คดีที่เกิดขึ้นคือ เรื่องส่วนตัวที่มาจากการแย่งชิงการเป็นผู้นำท้องที่ ซึ่งในเรื่องการฆ่ากันของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เพราะต้องการกำจัดคู่แข่ง และการฆ่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเพื่อที่จะให้มีการการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาเนิ่นนาน และกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมให้เห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบมีความรุนแรง เพราะแต่ละปีจะมีผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น เช่น นายก อบต. สมาชิก อบต. เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
 
ถ้าครูอับดุลรอฮิม ไม่ใช่เหยื่อโดยตรงของคนร้าย นี่แสดงให้เห็นว่า “ครู ในพื้นที่ยังสามารถอยู่อย่างปลอดภัย และไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แสดงว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ยังควบคุมได้ และการคุ้มครองครูของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยังได้ผล
 
แต่ถ้าครูอับดุลรอฮิม และผู้ใหญ่บ้านสะมะแอ คือ เหยื่อของกลุ่มก่อการร้าย โดยแนวร่วมที่ก่อเหตุฆ่าคนทั้ง 2 คน เพราะต้องการสร้างความปั่นป่วนให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง และมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความอ่อนแอ ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยของครูได้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ต้องให้คำตอบแก่ครู และคนในพื้นที่ว่า จะป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้นต่อครูอย่างไร เพื่อที่จะไม่มีศพต่อๆ ไปของครูเกิดขึ้น
 
ในขณะเดียวกัน ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้นำท้องที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ต้องกลับไปคิดว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะมิให้ผู้นำท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน เข่นฆ่ากันเอง เพราะต้องการตำแหน่งผู้นำเพื่อสร้างอิทธิพล และใช้อิทธิพลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
 
นี่ดีนะที่ “คสช.” เข้ามาปกครองประเทศ ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล หากยังปล่อยให้มีการเลือกตั้งตามวาระ นอกจากจะมีการฆ่ากันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งกันเองแล้ว ยังมีการฆ่ากันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งแบบข้ามห้วยด้วย เช่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านต้องการแย่งชิงตำแหน่ง นายก อบต. หรือนายกเทศมนตรี ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตมีมากกว่านี้
 
และหากมีการเหมารวมว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นฝีมือแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน สถานการณ์ชายแดนใต้ก็ยิ่งจะน่ากลัวหนักเข้าไปอีก
 
สิ่งที่น่าติดตามอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีนโยบายที่จะให้ในเดือนรอมฎอนที่จะมาถึงใน มิ.ย.นี้ ให้เป็นเดือนแห่งการให้อภัย โดยอนุญาตให้แนวร่วมที่หลบหนี ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง สามารถกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวในระหว่างเดือนถือศีลอดได้ โดยจะไม่มีการจับกุม ไม่ว่าจะเป็นการ “จับเป็น” หรือ “จับตาย” โดยกองทัพจะเป็นหลักประกันเพื่อมิให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาจัดการ
 
นี่อาจจะเป็นนโยบายในการ “รุกทางการเมือง อีกรูปแบบหนึ่งของกองทัพที่ผ่านทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาความรุนแรงโดยสันติวิธี เพื่อลดความหวาดระแวง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เพื่อเสริมสร้างให้นโยบาย “พาคนกลับบ้านและการ “พูดคุยสันติสุข บรรลุผลสำเร็จตามที่ต้องการ
 
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดอยู่เหนือการควบคุมของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือเกิดมีมือที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งฝีมือคนรัฐ และโจรปฏิบัติการให้ผู้ที่กลับบ้านเสียชีวิตเพียงรายเดียว สิ่งที่ติดตามมาอาจจะมากมายมหาศาล และอาจจะทำให้ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจหายไปอย่างรวดเร็วอีกครั้ง
 
ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องทำความเข้าใจกับ “หน่วยงานอื่นให้ชัดเจน และต้องติดตามความเคลื่อนไหวของ “มือที่สาม เพื่อป้องกันอย่าให้ฉวยโอกาสและจังหวะของการรุกทางการเมือง เพื่อหวังที่จะให้กลุ่มผู้เห็นต่างเห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในครั้งนี้ โดยเฉพาะ “กลุ่มแนวร่วมในแนวร่วมที่ต้องการเห็นความล้มเหลวของการพูดคุยสันติสุข
 
เพราะหากทำให้เดือนแห่งความดีงาม เดือนแห่งความสันติ กลายเป็นแห่งการเสียเลือดเนื้อ ย่อมเกิดการได้เสียขึ้น และสุดท้ายเราก็จะ “เสีย” มากกว่า “ได้” และที่สำคัญสังคมคนชายแดนใต้ไม่ต้องการได้ยินคำ “ขอโทษ” จากปากของใครอีกแล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น