ยะลา - เกษตรกรธารโต จ.ยะลา ปลูกสะตอพืชพื้นเมืองปักษ์ใต้ ภายในสวนทุเรียนกว่า 10 ไร่ จนสามารถเก็บเกี่ยวไว้กินเอง และนำไปขายสร้างรายได้งดงาม
วานนี้ (8 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวที่จังหวัดยะลา พาไปดูต้นสะตอ และวิถีการขึ้นสะตอ เพื่อนำสะตอมารับประทาน และนำไปขายเป็นพืชที่เสริมรายได้ให้แก่ชาวสวนทางภาคใต้มาเนิ่นนาน นายจรัส ชุมนุมมณี อายุ 53 ปี เกษตรกรในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ได้นำไปดูต้นสะตอ ที่ปลูกไว้ภายในสวนทุเรียนจำนวนหลายต้น และกำลังออกดอกออกฝัก สามารถจะเก็บเกี่ยวไปขายได้บ้างแล้ว
นายจรัส ได้ปีนขึ้นต้นสะตอดาน ที่ชาวบ้านเรียกกัน ลำต้นสูงกว่า 10 เมตร และเก็บเกี่ยวฝักสะตอที่ห้อยระย้าตามกิ่งบนต้นสะตอทั้งใกล้ และไกล โดยใช้ไม้ไผ่สอยโน้มพวงช่อสะตอมาใกล้ตัว และใช้มีดตัดรวมๆ กัน ก่อนจะนำลงจากต้นเพื่อไปขาย หรือเก็บไว้รับประทาน
ทั้งนี้ สะตอที่ปลูกกันในภาคใต้นั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ สะตอดาน และสะตอข้าว สะตอข้าว ฝักเล็กเรียวยาว เมล็ดเล็ก เปลือกบาง ฝักจะบิดเบี้ยวไปมา กลิ่นฉุนน้อย รสชาติออกหวานๆ มันๆ มักนิยมรับประทานสด เป็นผักเหนาะ ผักเคียง สำหรับจิ้มกับน้ำพริก หรือน้ำบูดู ส่วนสะตอดาน มีลักษณะตรงกันข้ามกับสะตอข้าว คือ ฝักใหญ่ ฝักตรง เปลือกหนา เมล็ดใหญ่ กลิ่นฉุนแรง นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น ใช้เป็นผักแกง ผักผัด
เมื่อสอบถาม นายจรัส ว่า สะตอดังกล่าวที่ปลูกไว้สามารถส่งขายได้ที่ไหน ก็ทราบว่า มีตลาดรองรับ ทั้งตลาดในชุมชน ในตัวเมือง และตามหมู่บ้าน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีการซื้อขายกันที่ 100 ฝัก ราคา 150 บาท ซึ่งราคานั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแต่ละช่วงเวลา หากความต้องการบริโภคเยอะ แต่สะตอขาดตลาดก็จะทำให้มีราคาสูงขึ้นได้เช่นกัน
นายจรัส บอกว่า ตนเองมีส่วนทุเรียนกว่า 10 ไร่ ตามแนวเขต และพื้นที่ว่างระหว่างต้นทุเรียน ก็ปลูกสะตอไว้ ซึ่งสะตอนั้นเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย ปลูกทิ้งไว้ ไม่ให้หญ้าปกคลุมต้นตอนเริ่มปลูก เมื่อโตได้สักระยะก็ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ และจะให้ผลผลิตเอง