xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้การลงทุนผลิตไฟฟ้าของ “กฟผ.” ต่อผลกระทบที่ชาวพม่าต้องแบกรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  อาทิตย์  ธาราคำ  โครงการพัฒนาการสื่อสาร
 
สำรวจชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการ “เขื่อนกั้นสาละวิน” หวั่นซ้ำเติมการเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์-ทหารพม่า คาดชาวเมืองโต๋นนับแสนได้รับผลกระทบ แนะสร้างประชาธิปไตยก่อนทำโครงการขนาดใหญ่
 
ภายหลังจากที่ประชาชนชาวรัฐฉาน และนักสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น หรือที่เดิมรู้จักกันในชื่อเขื่อนท่าซาง ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวิน ทางภาคใต้ของรัฐฉาน ห่างจากชายแดนที่จังหวัดเชียงใหม่ไปทางเหนือราว 45 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างรัฐบาลพม่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทจากจีน
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานของไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องพลังงานไฟฟ้า (MOU) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพม่า ขอบเขตความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ พม่าสนใจรับทราบนโยบายด้านการเปิดให้ภาคเอกชนของไทยมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)
 
ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวพร้อมเครือข่ายนักอนุรักษ์ชาวไทยใหญ่ได้ร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อสำรวจสถานการณ์ และข้อเท็จจริงในพื้นที่เลียบลำน้ำสาละวินและน้ำป๋าง ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยได้มีการพูดคุยกับชาวบ้าน และนักวิชาการกลุ่มต่างๆ จากการลงสำรวจพื้นที่เมืองกุ๋นฮิง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนเมืองโต๋น บนแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน พบว่า ปัจจุบันยังมีประชาชนอาศัยอยู่กว่าหมื่นคน ทั้งริมแม่น้ำสาละวิน และริมแม่น้ำป๋าง
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านเหล่านี้เคยถูกทหารพม่ากวาดต้อนบังคับให้อพยพในช่วง พ.ศ.2540-2542 จาก 11 เมืองในรัฐฉาน โดยในการกวาดล้างทหารพม่าได้เข้ามาสั่งให้ชาวบ้านย้ายออกจากหมู่บ้านภายใน 3-7 วัน หากหลังจากนั้นเข้ามาในหมู่บ้านแล้วยังพบใครก็จะทำร้ายร่างกาย ทรมาน ข่มขืนหรือสังหาร และทำลายบ้านเรือน และทรัพย์สินจนเสียหาย มีจำนวนประชาชนในรัฐฉานถูกบังคับอพยพในคราวเดียวกันกว่า 300,000 คน ที่แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ
 
1.หนีไปอาศัยตามแนวชายแดนไทย 2.อพยพเข้าไปอยู่ในแปลงอพยพที่ทหารพม่าสั่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง และ 3.หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons-IDPs) แต่เมื่อเวลาผ่านไปในช่วง พ.ศ.2550 เป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มคลี่คลายชาวบ้านจึงได้ทยอยพากันกลับมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เคยถูกทำลาย โดยได้ฟื้นฟูหมู่บ้านเดิมทำไร่ทำนา บูรณะวัด และสร้างโรงเรียน
 
เจ้าหน้าที่ทางการชาวไทยใหญ่รายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เขตกุ๋นฮิง ชาวบ้านเริ่มกลับมาประมาณ 30% บางส่วนยังทำงานรับจ้างอยู่เมืองไทย ส่งเงินกลับมาสร้างบ้านไว้ในที่ที่เคยเป็นบ้านเดิม สาเหตุที่ยังไม่กลับมาเพราะยังไม่แน่ใจสถานการณ์ ทั้งเรื่องการสู้รบ และการสร้างเขื่อน เวลานี้พม่าอาจจะดูเหมือนว่าเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงกลับมีโครงการสร้างเขื่อน จะทำให้น้ำมาท่วมพื้นที่นี้ ซึ่งจะเป็นการทำลายทุกอย่าง ทำลายบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาที่ชาวบ้านเคยสูญเสียไป และกำลังเริ่มกลับมาฟื้นฟู
 
สำหรับสถานการณ์ด้านความมั่นคงนั้น นายทหารระดับคุมกองกำลังชาวไทยใหญ่รายหนึ่งกล่าวว่า พื้นที่เขื่อนเมืองโต๋น และพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเขตที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังคงไม่สงบ แต่มีการสู้รบอยู่เป็นระยะ ช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีการปะทะระหว่างกองกำลังรัฐฉาน SSA และทหารพม่าที่นอกเมืองก๋าลี่ ในเขตกุ๋นฮิง
 
“รัฐฉานมีความอุดมสมบูรณ์ ใครๆ ก็อยากมาลงทุน หากเข้ามาเมื่อเราพร้อม เราได้ร่วมตัดสินใจลงทุนแล้วชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้นก็คงจะน่ายินดี แต่นี่เข้ามาลงทุนมาสร้างเขื่อน จะยิ่งทำให้ชาวบ้านลำบาก สูญเสียบ้านเรือน เสียที่นา ที่ทำกิน สูญเสียแผ่นดิน ประชาชนในรัฐฉาน เคยเจ็บปวดเคยสูญเสียกันมาแล้วกว่า 3 แสนคน ทั้งหมดนี้สิ่งที่ทหารพม่าทำไว้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และประชาชนจำนวนมากก็ยังไม่ได้คืนสู่บ้านของตนเอง ยังไม่ได้รับความยุติธรรม แต่กลับจะมีเขื่อนมาสร้างกั้นชีวิตชาวไทยใหญ่อีก แล้วพี่น้องเราที่ยังอยู่เมืองไทยจะได้กลับมาอยู่บ้านได้อย่างไร” นายทหารรายนี้กล่าว
 
นายทหารรายนี้กล่าวด้วยว่า การเป็นประชาธิปไตยในพม่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อให้ประชาชนในรัฐฉานได้มีสิทธิในแผ่นดินของตน แต่ที่เกิดขึ้นอยู่นี้คือ ทุกๆ ประเทศ นักลงทุนบริษัทต่างๆ ล้วนแต่เข้ามาเอาประโยชน์ ไม่มีใครสนใจช่วยส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยเสียก่อน ทำให้เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้ายิ่งขึ้น
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบรรยากาศการเตรียมการเลือกตั้งในรัฐฉาน ที่รัฐบาลพม่าเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในช่วงปลายปีนี้ มีพรรคการเมืองไทยใหญ่ลงสมัคร 2 พรรคหลัก ได้แก่ พรรคพรรคเสือเผือก หรือพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (Shan Nationalities Democratic Party - SNDP) และพรรคหัวเสือ หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy -SNLD) ภายใต้การนำของขุนทุนอู ได้มีการรณรงค์หาเสียงตามเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน
 
แต่หลายคนยังมองว่า การเลือกตั้งนี้ยังไม่ใช่ความหวังในการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากรัฐบาลพม่ายังใช้วิธีการต่างๆ ให้พรรคของทหารพม่าได้รับคะแนนสูงสุด เช่น ให้ผู้ที่ยังไม่มีบัตรประชาชนมาทำบัตรประชาชนพร้อมกับสมัครเป็นสมาชิกพรรคของรัฐบาลทหาร เป็นต้น 
 
เป็นที่สังเกตว่า การลงนามการลงทุนในโครงการต่างๆ  ในพม่ากำลังเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป โครงการเขื่อนท่าซาง จะสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินในรัฐฉานตอนใต้ มีกำลังผลิตติดตั้ง 7,000 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้า 90% กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาส่งขายไทย หรือจีน มีมูลค่าโครงการสูงถึง 14,450 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 447,950 ล้านบาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น