xs
xsm
sm
md
lg

แห่สมัครกรรมการสิทธิฯเพียบ "นิรันดร์"ห่วงไอซีซีไม่ยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้สรุปการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกสมตั้งแต่ วันที่ 25 พ.ค.-15 มิ.ย. ได้ทั้งสิ้น 121 ราย ซึ่งเมื่อวานนี้ (15มิ.ย.) เป็นวันสุดท้ายของการปิดรับสมัคร พบว่ามีผู้มาสมัครมากที่สุด 78 คน โดยในจำนวนผู้สมัครทั้งหมด มีรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจดังนี้ นายบรรจง นะแส นักสิทธิมนุษยชน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี พ.อ. ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีต ผบ.สำนักทรัพย์สินทางปัญหา ดีเอสไอ นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง นายชาติชาย สุทธิกลม อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเลขาธิการกสม. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ นักสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเด็ก นายวีระ สมความคิด อดีตแกนนำคนไทยหัวใจรักชาติ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฯ นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฎิรูปกฎหมาย ปก. นางอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานแอมแนสตี้ฯ ประเทศไทย
นางพะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด นางจรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.อุษณีย ชิดชอบ อดีตส.ว.บุรีรัมย์ พี่สาวนายเนวิน ชิดชอบ และนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทางเลขาสำนักงาน กสม.จะนำรายชื่อเสนอต่อคณะกรรมการสรรรหา 5 คน ที่มี นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน เพื่อคัดเลือกเหลือ 7 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้น คณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน หากให้ความเห็นชอบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้า สนช.ไม่ให้ความเห็นชอบ ก็ต้องส่งรายชื่อกลับไปให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาทบทวน ซึ่งถ้าคณะกรรมการสรรหามีมติเสียงข้างมาก ยืนยันตามเดิม ประธาน สนช.ก็ต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้า ซึ่งกระบวนการสรรหาดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. เปิดเผยว่า ดูจากรายชื่อที่มาสมัครนั้น ต่างกระจายในหลายกลุ่ม มีทั้งข้าราชการ นักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน แม้ว่าสัดส่วนภาคประชาสังคม จะมีแค่ 1 ใน 5 หรือไม่เกิน 20 คน แต่ปัญหาที่อยู่กระบวนการสรรหานับจากนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ไอซีซี ได้มีหนังสือแจ้งว่า ไม่รับกระบวนการสรรหา กสม. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะไม่เป็นไปตามหลักการปารีส และจะมีการลดเกรด กสม.ของประเทศไทย จึงไม่มั่นใจว่า คณะกรรมการสรรหา 5 คน จะดำเนินการสรรหาอย่างไร แต่เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงาน กสม.ได้จัดประชุมระดมความเห็นจากนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ซึ่งเห็นว่า แม้จะไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การสรรหาให้สอดคล้องกับปารีส แต่คณะกรรมการสรรหา สามารถยึดหลักปารีสได้ โดยอาจตั้งคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ในสังคม แล้วให้คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มาสมัครโดยเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหาเป็นจำนวนสองเท่าของผู้ที่จะได้รับการสรรหาในแต่ละภาคส่วน เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือก
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมองว่าหากคณะกรรมการสรรหาตามข้อเสนอดังกล่าว ก็อาจมีความเสี่ยงตามมาในเรื่องของระยะเวลาการสรรหาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ค่อนข้างจำกัด เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง เพราะพ.ร.บ.กสม.หรือระเบียบไม่เปิดช่องให้กระทำอย่างนั้นได้ซึ่งก็ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่ปัญหาใหญ่คือเมื่อการสรรหายังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550ไอซีซีจะยอมรับหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าจากรายชื่อ คณะกรรมการสรรหาสามารถคัดเลือกคน โดยยึดความหลากหลายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น