xs
xsm
sm
md
lg

“อมรา” ห่วงสรรหา กสม.ใหม่ไม่สอดคล้องหลักการปารีส จี้ถาม กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่อยู่กี่ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อมรา พงศาพิชญ์ (แฟ้มภาพ)
ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ห่วงสรรหา กสม.ชุดใหม่ไม่สอดคล้องหลักการปารีส เรียกร้อง กมธ.ยกร่างฯให้ความชัดเจน ชุดใหม่อยู่ทำงานกี่ปี

นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงถึงการสรรหา กสม.ชุดใหม่ว่า เนื่องจากกระบวนการสรรหายังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.กสม. 2542 ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส จึงมีข้อกังวล 3 ประเด็น คือ 1. ความชัดเจนของสถานะองค์กรที่จะไม่มีการควบรวมกับองค์กรอื่นหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในอนาคต แต่จะสร้างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของ กสม. หากเป็นเช่นนี้ใครจะมาสมัคร

2. เรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้เข้ารับการสรรหา โดยตามหลักการปารีสระบุว่า “การแต่งตั้งสมาชิกต้องเกิดจากการดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดยมีการกำหนดระยะเวลาของการปฏิบัติงานตามอาณัติที่ชัดเจน” แต่ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจนเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของ กสม.ชุดใหม่ว่าให้มีวาระการทำงาน 6 ปี ตาม พ.ร.บ.กสม.หรือไม่ ขณะเดียวกัน ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ ซึ่งก็อยากให้กรรมาธิการยกร่างออกมาให้คำตอบที่ชัดเจนกับสังคม เพราะมีผลต่อการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิในขณะนี้ ที่ทางสำนักงานเปิดให้ยื่นสมัครได้ตั้งแต่ 25 พ.ค - 15 มิ.ย. ยังมีผู้มายื่นสมัครจำนวนน้อย ทางคณะกรรมการสรรหาอาจจะต้องพิจารณาขยายเวลาการรับสมัครเพิ่มเติม

3. คุณสมบัติของบุคคลผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ หลักการปารีสระบุว่า กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่กระบวนการสรรหาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน สนช. บุคคลจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และบุคคลจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองคัดเลือก ส่วนผู้นำฝ่ายค้านและประธานศาลปกครองไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง เท่ากับว่ากรรมการสรรหา 5 คน เป็นผู้พิพากษาทั้งสิ้น จึงเป็นห่วงว่าองค์ประกอบการสรรหาจะไม่หลากหลาย จนส่งผลให้ผู้ถูกคัดเลือกไม่หลากหลายไปด้วย

“ขณะนี้ กสม.กำลังถูกทบทวนจากคณะกรรมการประสานงานว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ไอซีซี) หลังจากที่โดนใบเหลืองเพราะไอซีซีเห็นว่ากฎหมายของกสม.และการสรรหาไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ซึ่งในเดือน ต.ค.นี้ กสม.จะถูกพิจารณาเพื่อให้เกรด หากยังไม่มีการแก้ไข 2 ประเด็นนี้ เราก็จะถูกลดเกรดจากเอ เหลือบีจริงๆ กสม.ชุดใหม่ก็จะลำบากและรัฐบาลจะเสียภาพลักษณ์ เพราะกล่าวมาตลอดว่าได้ดูแลเรื่องสิทธิมนนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการสนับสนุนให้กสม.มีความสอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งเราได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.กสม.ไปตั้งแต่ปี 2551 แต่จนถึงปัจจุบันนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ยังไม่ผ่านสภา หากมีการแก้ไขแล้วจะทำให้ชีวิต กสม.ทำงานง่ายขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากใช้กระบวนการสรรหาตามกฎหมายเดิมจะส่งผลต่อการถูกลดเกรดหรือไม่ นางอมรากล่าวว่า เชื่อว่ากระบวนการสรรหาก็ยังดำเนินต่อไป โดยต้องไปหวังพึ่งกรรมการสรรหาว่าจะคัดเลือก 7 คน ที่มีความหลากหลายและมีความครอบคลุม ซึ่งไอซีซีจะมีคณะอนุกรรมการคอยตรวจสอบคุณสมบัติว่าบุคคลที่ถูกคัดเลือกมีความหลากหลายหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น