จากกรณี องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดชุมพร รวม 21 เครือข่าย ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพรต่อ พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนำคณะลงพื้นที่ดูสถานที่ที่จะใช้ก่อสร้างโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการศึกษาประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แต่การลงพื้นที่ครั้งนี้ของคณะกรรมาธิการการคมนาคมได้สร้างความวิตกกังวลต่อชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เกรงว่าจะเป็นโครงการสั่งตรง หรือชี้เป้าจากผู้มีอำนาจ โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง
แต่เลือกที่รับฟังข้อมูลจาก “กลุ่มทุน” และ “นักการเมืองท้องถิ่น” ด้านเดียว
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การชี้ว่ากระบวนการ และขั้นตอนของโครงการท่าเรือน้ำลึกชุมพร ตามที่กรมเจ้าท่าได้เผยแพร่เอกสาร คค 0315.2/ว.650 ลงวันที่ 16 ก.พ.2558 และ คค 0335.2/ว.967 ลงวันที่ 10 มี.ค.2558 ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงวันที่ 29 ธ.ค.2552 “เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ” ซึ่งในประกาศกระทรวงดังกล่าวระบุให้เจ้าของโครงการเผยแพร่เอกสารกำหนดการจัดเวที ค.1 และเอกสารประกอบการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการในเว็บไซต์ของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ http://www.thia.in.th/calendar/detail/03/1/2015
จากเอกสารประกอบการรับฟังจะเห็นได้จะพบว่า ไม่มีข้อมูลของโครงการท่าเรือว่าเป็นท่าเรือขนาดใด จะสร้างที่ใด มีการขุดลอกร่องน้ำกินพื้นที่เท่าใด ดินเลนจากขุดลอกร่องน้ำจะนำไปทิ้งที่ใด มีความถี่ของการเดินเรือเพื่อเข้า-ออกจากท่าเท่าไร มีการขนส่งวัตถุดิบที่เป็นวัตถุอันตรายหรือไม่ จึงขาดข้อมูลที่ต้องให้แก่ประชาชนในขั้นตอน ค.1 เพราะถ้าประชาชนยังไม่ทราบขนาด และรูปแบบของท่าเทียบเรือ รวมถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเพื่อประกอบการพิจารณา ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงจะไม่สามารถแสดงข้อห่วงกังวล และมีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตในการศึกษาได้
ซึ่งในวันที่จัดเวที ค.1 ผู้เข้าร่วมประชุมก็ได้ให้ความเห็นว่า เวทีนี้ขาดข้อมูลตามประกาศกระทรวง จึงไม่สามารถจัดเป็นเวที ค.1 ได้ ต้องยกเลิก และจัดใหม่
ความจริงแล้วกรมเจ้าท่าได้เคยสำรวจออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือที่จังหวัดชุมพรมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 มีการใช้งบประมาณราชการไปแล้ว ย่อมต้องมีข้อมูลรวมทั้งในเอกสารระบุว่า ได้เสนอรายงาน EIA ให้ สผ.แล้ว ดังนั้น การดำเนินการของกรมเจ้าท่าในเวที ค.1 เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2558 จึงขัดกับประกาศกระทรวง ทส.ลงวันที่ 29 ธ.ค.2552 ในหัวข้อ ค.1 ข้อ 2.2 ต้องเปิดเผยเอกสารโครงการโดยระบุถึงความเป็นมา ความจำเป็น แหล่งทุน กระบวนการ และแนวทางในการดำเนินโครงการ โดยขาด “การนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
สำหรับท่าเทียบเรือในภาคใต้ที่สร้างโดยกรมเจ้าท่ามีจำนวนมาก และสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน แต่จากการติดตามความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกลับไม่พบว่ามีความคุ้มค่า
ดังนั้น ถึงแม้กรมเจ้าท่าจะอ้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) แต่กว่ากระบวนการศึกษาผลกระทบเสร็จสิ้นก็หมดแผน 11 แล้ว และปัจจุบันนี้มีระบบการขนส่งสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น และท่าเทียบเรือของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรมเจ้าท่ามีความจำเป็นจะต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ของท่าเทียบเรือต่างๆ ในภาคใต้ และความต้องการในการใช้บริการท่าเทียบเรือชุมพรจากภาคเอกชนในราคาที่กรมเจ้าท่ากำหนดด้วย เพื่อป้องกันการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และเกิดเป็นท่าเรือร้าง
งบประมาณการเงินการคลัง และสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยควรประหยัด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะลูกหลานไทยต้องแบกภาระหนี้จำนวนมาก
ในเอกสารประกอบเวที ค.1 กรมเจ้าท่า ยังได้ให้ข้อมูลว่า บทบาทของท่าเทียบเรือชุมพรที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะนำมาเป็นแนวทางการศึกษาของโครงการนี้ คือ บทบาทกำหนดให้ท่าเรือชุมพรเป็นท่าเรือสนับสนุนท่ากรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง
ขณะเดียวกัน ในเอกสารประกอบเวที ค.1 มีการระบุผลการพิจารณาสินค้าที่มีศักยภาพผ่านท่าเรือชุมพร โดยคัดเลือกสินค้า 10 อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา ไม้ยางพารา น้ำมันปาล์ม กุ้ง ทุเรียน มังคุด ลองกอง สับปะรด เงาะ และมะพร้าว ทำให้ประชาชนสับสนว่า เป็นท่าเทียบเรืออุตสาหกรรม หรือท่าเทียบเรือสินค้าเกษตร
กรมเจ้าท่า จึงต้องมีการประเมินความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ของโครงการท่าเรือชุมพร ส่วนในการเลือกที่ตั้งท่าเทียบเรือนั้น ควรเกิดขึ้นภายหลังจากมีความชัดเจนของการใช้ประโยชน์ของท่าเทียบเรือ ขนาดของท่าเทียบเรือที่เหมาะสม จึงนำไปประเมินทางเลือกของที่ตั้งท่าเทียบเรือ โดยการประเมินทางเลือกของที่ตั้งในเอกสารประกอบเวที ค.1 ยังให้ความสำคัญต่อผลกระทบน้อยต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงชายฝั่ง ผลกระทบต่อสัตว์น้ำหายาก
การใช้ประโยชน์ของท่าเทียบเรือมีความสำคัญต่อการกำหนดมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง กรมเจ้าท่าจึงต้องมีความชัดเจนในประเด็นนี้ก่อน
อนึ่ง การเลือกพื้นที่สร้างท่าเทียบเรือที่กรมเจ้าท่าประเมินนั้น ยังขาดข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งชุมชนมีข้อมูลอยู่จำนวนมาก ดังนั้น กรมเจ้าท่าพัฒนาเกณฑ์ในการประเมินทางเลือกที่ตั้งของโครงการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวบ่งชี้ (KPI) และค่าน้ำหนักในการประเมิน รวมทั้งเกณฑ์ในการประเมินเพื่อนำมาสู่ข้อสรุป เพราะชุมชนรู้จักพื้นที่ของชุมชนเป็นอย่างดี บางพื้นที่เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ และมีสัตว์คุ้มครองอาศัยอยู่มาก เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิชุมชนตามมาตรา 66 คือ
“สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างเป็นปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”
กรมเจ้าท่า ควรมีการศึกษารายละเอียดของโครงการให้ครบถ้วน เพื่อประชาชนจะได้มีข้อมูลสำคัญในการพิจารณา และจะได้มีส่วนร่วมกับรัฐในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามประกาศกระทรวง ทส.ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิทธิตามมาตรา 11 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติด้วย
21 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดชุมพร ขอคัดค้านโครงการสร้างท่าเรือที่ชุมพร ที่จะดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ชายฝั่งทะเลชุมพร เนื่องจากพื้นที่การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบต่อการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัย และวางไข่ของสัตว์น้ำ กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลชุมพรอย่างรุนแรง ชาวประมงท้องถิ่นริมฝั่งทะเลจำนวนมากถูกกระทบต่อแหล่งทำกิน กระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งจะกระทบเป็นห่วงโซ่ในเรื่องอาหารแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชาวชุมพร
การสร้างท่าเรือน้ำลึกจะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบก และทางทะเล ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ จะส่งผลต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดชุมพร ทั้งชายฝั่งทะเล ใต้ท้องทะเล และหาดทรายที่สวยงาม การสูญเสียภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยว สูญเสียการลงทุนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึงการจ้างงาน และรายได้จากการท่องเที่ยวเท่ากับสูญเสียศักยภาพหลักทางยุทธศาสตร์ของจังหวัดชุมพรอย่างรุนแรง
การสร้างท่าเรือน้ำลึกซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งที่จะตามมาหลังจากการมีท่าเรือจะมีนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย เช่นเดียวกับท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี หรือที่มาบตาพุด จ.ระยอง และที่ จ.สงขลา เป็นต้น สิ่งที่จะตามมาคือ การเวนคืนที่ดินที่ทำกินของประชาชนอย่างมากมาย เกิดการแย่งชิงน้ำอุปโภคบริโภคระหว่างภาคชุมชน ภาคเกษตรกรภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญการสร้างท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพร จะทำให้สูญเสียงบประมาณของแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชน
นอกจากนี้แล้ว 21 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดชุมพร ยังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่องการคัดค้านโครงการสร้างท่าเรือที่ชุมพรอีกด้วย โดยมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน
สำหรับ “21 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดชุมพร” ซึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างท่าเรือที่ชุมพรในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.เครือข่ายรักษ์ชุมพร
2.กลุ่มบางสนรักษ์ถิ่น
3.กลุ่มรักษ์บางเบิด-ถ้ำธง
4.กลุ่มชุมพรฟอรั่ม
5.กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำรับร่อ
6.กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ
7.กลุ่มอนุรักษ์คลองกรูด
8.กลุ่มอนุรักษ์เขาตาพรหม
9.กลุ่มฅนรักษ์ชุมพร
10.กลุ่มการจัดการอ่าวท้องตมและการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องตมใหญ่
11.เครือข่ายปะทิวรักษ์ถิ่น
12.เครือข่ายวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนบางสน
13.เครือข่ายปกป้องโครงการพระราชดำริหนองใหญ่
14.เครือข่ายรักษ์ละแม
15.เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดชุมพร
16.เครือข่ายปกป้องวิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อมทะเลทรัพย์
17.สภาองค์กรชุมชนตำบลชุมโค
18.สภาองค์กรชุมชนตำบลทะเลทรัพย์
19.สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดชุมพร
20.สมาคมประชาสังคมจังหวัดชุมพร
และ 21.สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร