xs
xsm
sm
md
lg

สจล.เจ๋งคิดค้นเครื่องวัดคุณภาพความอ่อน-แก่ทุเรียน เตรียมใช้นำร่องที่ชุมพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - สจล.เจ๋งคิดค้นเครื่องวัดคุณภาพความอ่อน-แก่ทุเรียน ใช้นำร่องที่ จ.ชุมพร แห่งแรกในประเทศไทย ป้องกันปัญหาเจ้าของสวนตัดทุเรียนอ่อนส่งออกสู่ท้องตลาด

วันนี้ (26 มิ.ย.) ห้องประชุมเกาะลังกาจิว ศาลากลางจังหวัด นายวงศศิริ พรหมชะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “เซ็นเซอร์ไมโครเวฟเพื่อการเกษตร” ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพร และคณะ ได้นำเสนอเครื่องสแกนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์วัดค่าความอ่อน-แก่ของทุเรียน ซึ่ง จ.ชุมพร เตรียมนำมาใช้ในการตรวจสอบทุเรียนคุณภาพทุเรียนก่อนส่งขายในท่องตลาด เพื่อลดปัญหาชาวสวนตัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายในพื้นที่ จ.ชุมพร

ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ เปิดเผยว่า งานวิจัยระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์ตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผลไม้ เพื่อช่วยลดปัญหาสินค้าส่งออกไม่ได้คุณภาพ โดยเบื้องต้น ได้ทำการทดสอบกับทุเรียนในประเทศไทยที่ส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้ และมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีปัญหาโดนตีกลับสินค้าจากการส่งออกไปตลาดจีน เนื่องจากมีการปะปนทุเรียนอ่อนไม่ได้คุณภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล นอกจากนั้น ยังส่งผลถึงราคาของทุเรียนในประเทศ ทำให้ราคาตกต่ำ จึงได้มีการวิจัยการตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผลไม้ขึ้น โดยการนำระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์มาปรับใช้ และจะนำมาใช้นำร่องตรวจวัดอย่างเป็นทางการใน จ.ชุมพร เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ กล่าวต่อว่า ได้ใช้เวลาศึกษาคิดค้นมานานร่วม 10 ปี จนกระทั่ง 2 ปีหลังได้ประสบความสำเร็จ จากเดิมเครื่องวัดคุณภาพทุเรียนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์ ต้องใช้ทุนต่อเครื่องกว่า 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันได้พัฒนาย่อสัดส่วนให้เล็ก กะทัดรัดง่ายต่อการทำงาน มาใช้ท่อพีวีซีกับเครื่องไมโครเวฟเซ็นเซอร์ ทำให้เหลือต้นทุนการผลิตเครื่องละหลักหมื่นบาทเท่านั้น มีความกว้างขนาด 2 ฟุต หนักประมาณ 2 กิโลกรัม ทั้งนี้ หลักการทำงานของนวัตกรรมดังกล่าวออกแบบมาเพื่อใช้งานวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียน โดยใช้เทคนิคทางด้านไมโครเวฟใน โดยมีขั้นตอนเริ่มต้นจากการเลือกสุ่มทุเรียนเอาไปวางไว้บนแท่นวัด จากนั้นจะส่งคลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียนไปยังสายอากาศที่เป็นตัวรับ โดยขณะที่คลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียนนั้นขนาดของสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะถูกลดทอนลง แปรผันไปตามความอ่อน หรือแก่ของผลทุเรียน จากนั้นข้อมูลที่วัดได้จะถูกส่งผ่านเครื่องส่ง-รับสัญญาณ ไปประมวลผลที่คอมพิวเตอร์ และทำการแสดงผลบนหน้าจอว่าทุเรียนนั้นอ่อนหรือแก่ ใช้เวลาไม่เกิน 1 วินาทีจะสามารถรู้ผลได้ทันที

ด้านนายวงศศิริ พรหมชะ ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชุมพรถือเป็นตลาดกลางส่งออกผลไม้ของภาคใต้ โดยเฉพาะทุเรียนมีเป็นจำนวนมาก ในปีนี้คาดว่ามีปริมาณผลผลิตรวมอยู่ที่ 131,741 ตัน ซึ่งส่งออก 123,009 ตัน และในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน จะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ซึ่งยังไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยวของทุเรียน แต่ก็มีทุเรียนออกสู่ตลาดทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้อย จึงทำให้มีการตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งมีการจับกุมดำเนินคดีมาแล้วหลายราย ดังนั้น ทางจังหวัดชุมพรได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการตัดจำหน่ายทุเรียนอ่อนเป็นอย่างมาก

นายวงศิริ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้ามีการตั้งด่านตรวจ และสุ่มตรวจทุเรียนอ่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประเมินด้วสายตา หากสงสัยว่าอ่อนจะนำตัวอย่างส่งศูนย์วิจัยและ พัฒนาการเกษตรจังหวัดชุมพร ตรวจสอบด้วยกระบวนการอบความร้อน เพื่อหาเปอร์เซ็นต์ น้ำหนักของเนื้อทุเรียน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะทราบผล ดังนั้น งานวิจัยระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์ตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผลไม้ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร จึงถือเป็นจังหวัดน้ำร่องแห่งแรกของประเทศไทย และพร้อมที่จะนำเครื่องดังกล่าวส่งไปไว้ตามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในทุกอำเภอในพื้นที่ จ.ชุมพร เพื่อใช้ในการวัดค่าความอ่อนแก่ของทุเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น