ยะลา - บรรยากาศบริเวณแผงรับ-ซื้อขายส่งทุเรียนใน อ.เบตง จ.ยะลา คึกคักเป็นพิเศษ หลังพ่อค้าแม่ค้าจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ต้องการทุเรียนในประเทศไทยจำนวนมาก
วันนี้ (1 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการขายส่งทุเรียน ที่บริเวณแผงรับซื้อขายทุเรียน อ.เบตง จ.ยะลา ค่อนข้างคึกคักมากเป็นพิเศษ เนื่องจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่างมีความต้องการซื้อทุเรียนในประเทศไทย แม้จะไม่ถึงในช่วงทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง ออกผลผลิตก็ตาม แต่ทางพ่อค้าแม่ค้ามีความต้องการทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และชะนีรวมถึงทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง และผลไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งนักบริโภคทุเรียนชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ต่างชื่นชอบรสชาติของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี และทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง จึงกลายเป็นผลไม้ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความนิยมชื่นชอบเป็นอย่างมาก
ด้านแม่ค้าขายส่งทุเรียนในตลาดเบตง กล่าวว่า ทุเรียนนอกฤดูส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดต่างประเทศ ราคาซื้อในช่วงนี้จะค่อนข้างแพง ถ้าราคาถูกจะเป็นทุเรียนประเภทตกไซส์ (ตกไซส์คือ ทุเรียนที่มีรูปร่างไม่สวย แต่เนื้อข้างในเหมือนกัน) แต่ถ้าต้องการทุเรียนคุณภาพดี จะแข่งขันกันที่ราคา พ่อค้าแม่ค้าจำเป็นต้องซื้อของด้วยต้นทุนที่สูง แต่ถ้าสู้ราคาไม่ได้ก็ต้องซื้อทุเรียนประเภทตกไซส์มาขายแทน
โดยทุเรียนที่ขายในประเทศไทยต้องเป็นทุเรียนคุณภาพ มีเปอร์เซ็นต์สูง 90-100 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนต้องแก่เท่านั้นถึงจะขายได้ แต่ถ้าส่งนอกแม้ว่าจะเป็นทุเรียนที่เปอร์เซ็นต์ต่ำ ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถขายได้ เพราะผู้บริโภคต่างประเทศนิยมบริโภคทุเรียนอ่อนกรอบๆ ปัจจุบัน ทุเรียนที่ขายตามท้องตลาดโดยเฉพาะตลาดค้าส่งจะหาได้เฉพาะทุเรียน 80-90 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“สำหรับการค้าขายทุเรียนสมัยก่อนอาจกล่าวได้ตามภาษาชาวบ้านว่า ซื้อง่าย ขายคล่อง ต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาขายจึงถูก ขายกันกิโลละไม่กี่สิบบาท การตัดทุเรียนมาขายก็จะรอเวลาจนได้อายุ หรือที่เรียกว่า ตัดแก่ เปอร์เซ็นต์สูง 90-100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทุเรียนในขณะนั้นมีรสชาติที่อร่อยกว่า คนในประเทศจึงนิยมกินทุเรียนกันอย่างแพร่หลาย การค้าทุเรียนเมื่อก่อนเรียกว่าขายดี เทียบกับภาวะการค้าทุเรียนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาได้ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทุเรียนก็ยังขายได้ แม้ราคาค่อนข้างแพงก็มีคนกิน แต่อาจซื้อในปริมาณพอกินสำหรับคนในครอบครัว”
ซึ่งในช่วงนี้ทุเรียนพื้นบ้านใน อ.เบตง ยังไม่ออกผลผลิต จึงได้สั่งทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และชะนี มาจาก จ.จันทบุรี วันละ 20 ตัน ซึ่งราคาต้นทุนซื้อมาอยู่ในราคากิโลกรัมละ 35-40 บาท/กิโลกรัม ทางร้านจะซื้อเข้าประมาณ 20 ตัน/วัน อย่างน้อยถ้าไม่มีสินค้าเลยจะซื้อทุเรียนเข้าร้าน 10 ตัน/วัน และในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี จะสามารถหาซื้อทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง เข้ามาเสริม โดยทางร้านจะซื้อเข้าร้านวันละ 5-10 ตัน/วัน
จากการที่ผลผลิตทุเรียนในปีนี้ค่อนข้างน้อย ปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ดอกทุเรียนที่ออกเป็นจำนวนมากร่วง ส่งผลให้ปีนี้ทุเรียนออกล่าช้ากว่าปีอื่นๆ คาดว่าผลผลิตจะเข้าสู่ตลาดไม่มากนัก แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน ทุเรียนจะเริ่มทยอยเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ถ้าจะประเมินราคาขายสินค้าคุณภาพในช่วงนี้ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองสวยๆ ต้นทุนซื้อจากสวน 35-40 บาท/กิโลกรัม ราคาขายส่งในตลาดจะอยู่ที่ 90-95 บาท ขายปลีกทั่วไป 110-120 บาท/กิโลกรัม ชะนี ต้นทุนซื้อ 45 บาท ขายส่ง 60-70บาท ขายปลีกอีกทอด 120-130 บาท