xs
xsm
sm
md
lg

“รัตนชัย ไชยรัตน์” จิตรกรผู้มุ่งสะท้อนถิ่นกำเนิด เทิดทูนสถาบัน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รัตนชัย ขณะกำลังสร้างสรรค์ผลงานชื่อ ทุกถิ่นที่ ทั่วไทย ต่างร่วมใจ ถวายพระพร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพ
 
ผู้สืบสายเลือดศิลปิน
กำเนิดในถิ่นศิลปะ
บ่มเพาะแพรวพราวราวรัตนะ
มุ่งสานสัจจะ สะท้อนไทย
หนึ่งในทำเนียบยืนแถวหน้า
ใต้ฟ้ารัตนโกสินทร์สมัย
เทิดสถาบันบันดาลใจ
คือ...“รัตนชัย ไชยรัตน์”

บทกวีที่ประพันธ์โดย “ปิยะโชติ อินทรนิวาส” บทนี้ เปรียบเหมือนแสงไฟสปอตไลต์ที่ส่องให้เห็นตัวตนของจิตรกรนาม “รัตนชัย ไชยรัตน์” ได้อย่างแจ่มชัดจนแทบจะไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ อีก ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน “รัตนชัย ไชยรัตน์” ถือเป็นศิลปินไฟแรงเพียงไม่กี่คนที่มีลูกค้ารับซื้อผลงานภาพทุกภาพที่สร้างสรรค์โดยฝีมือของเขา

แต่ทว่าในที่สุดช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่นั้นก็ถึงกาลต้องพังทลายลงพร้อมๆ กับเศรษฐกิจของประเทศไทยจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ทำให้ชีวิตของหลายคนเปลี่ยนแปลงไป และชีวิตของ “รัตนชัย ไชยรัตน์” ก็เช่นกัน
 
ครูปกรณ์ ไชยรัตน์ บิดา
 
 จากลูกนายหนังตะลุงมุ่งสู่เส้นทางศิลปะ

รัตนชัย เปิดเผยว่า สิ่งที่ทำให้เขามีความรัก และชื่นชอบในศิลปะมาจากบุคลิกของบิดา หรือครูปกรณ์ ไชยรัตน์ ที่นอกจากจะสอนหนังสือแล้ว ยังใช้เวลาว่างศึกษา และถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่นักเรียน และผู้ที่สนใจ ในขณะที่ครูปกรณ์ เองก็จัดได้ว่าเป็นนายหนังตะลุงคนหนึ่งซึ่งใช้เวลาว่างจากงานสอนหนังสือออกตระเวนแสดงหนังตะลุงให้ผู้คนใน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ได้รับชม ขณะเดียวกัน ที่บ้านของครูปกรณ์ ยังเปิดเป็นแหล่งถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย

“เดิมทีครอบครัวผมเป็นชาว จ.นราธิวาส จากนั้นพ่อก็ย้ายมารับราชการที่ อ.หาดใหญ่ ทั้งครอบครัวก็ย้ายตามพ่อมาด้วย จำได้ว่าตั้งแต่เด็กๆ ได้เห็นสิ่งที่พ่อทำส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะแทบจะทั้งหมด เพราะพ่อมีความสามารถทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเขียนบทกวี แต่งบทแสดงหนังตะลุง หรือวาดรูป พ่อทำได้ดีหมด และเราก็ชอบดู ศึกษาทั้งหมดมาจากพ่อ พ่อเองก็ภูมิใจที่เรารัก และชอบเหมือนพ่อ”

รัตนชัย เล่าว่า หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมต้นเขาจะต้องเลือกหาที่เรียนต่อ แต่ด้วยความที่ชอบในศิลปะทำให้ตกอยู่ในสภาพเหมือนไม่มีที่ไป เนื่องจากสมัยนั้นในภาคใต้ยังไม่มีโรงเรียนสอนทางด้านศิลปะ จะไปเรียนสถาปัตย์ แต่พ่อก็ไม่เห็นด้วยเพราะพี่ชายเรียนในสาขานี้อยู่แล้ว เขาจึงไปสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาช่างก่อสร้างที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ด้วยเหตุผลเดียวก็คือ สาขาวิชาช่างก่อสร้างมีการเรียนวิชาเขียนแบบ ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะช่วยคลายความอัดอั้นจากความต้องการอยากเรียนศิลปะได้ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นวิชาที่ขีดๆ เขียนๆ เหมือนกัน

“แต่ผมเรียนได้แค่เทอมเดียวก็ถูกรีไทร์ เพราะใจเราไม่ชอบ เราอยากเรียนศิลปะ หลังจากถูกรีไทร์ชีวิตก็เหมือนยิ่งมืดมนลงไปอีก สุดท้ายเลยตัดสินใจหนีพ่อเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ไปสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป์ และผมก็สอบได้ด้วย สำหรับคนที่ชอบศิลปะสมัยนั้นหากสอบได้วิทยาลัยช่างศิลป์ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว ผมจึงได้เรียนที่นั่นอย่างมีความสุข จริงๆ แล้วฝีมือเรื่องการเขียนรูปก็ไม่ได้เก่งอะไรมากนัก แต่ผมเป็นนักศึกษาวิทยาลัยช่างศิลป์ที่ขยันมากที่สุดในรุ่น ตามที่เพื่อนเขาบอกนะครับ”
 
รัตนชัย ไชยรัตน์ สมัยเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์
 
สอบเรียนต่อสาขา ‘เวชนิทัศน์’ สมัครเป็นพันรับแค่ 20

เพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยช่างศิลป์ของรัตนชัย เมื่อเรียนจบปี 3 ส่วนใหญ่เลือกสอบเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ตัวเขากลับเลือกเรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป์อีก 2 ปี เมื่อเรียนจบแล้วจึงไปสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในสาขาวิชาเวชนิทัศน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสาขาที่นำวิทยาการทางการแพทย์มาผสมผสานเข้ากับศิลปะ เป็นสาขาวิชาที่สอบเข้ายาก และเรียนยากที่สุดสาขาหนึ่ง

“สมัยที่ผมไปสมัครสอบมีนักศึกษาศิลปะมาสมัครเกือบ 1 พันคน แต่รับแค่ 20 คน ปรากฏว่า ผมสอบได้ ก็รู้สึกดีใจมาก แต่การเข้าเรียนในสาขานี้จะต้องท่องคำศัพท์เฉพาะด้านการแพทย์ไม่แตกต่างไปจากนักศึกษาแพทย์ ซึ่งสาขาเวชนิทัศน์ในสมัยนั้นเป็นสาขาที่จัดได้ว่ายังมีความขาดแคลนบุคลากรที่จบออกไปทำงานในด้านนี้ เมื่อผมเรียนจบทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ก็ได้ขอตำแหน่งให้ ผมจึงได้กลับมารับราชการอยู่ที่ภาคใต้บ้านเกิดหลังจากไปเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ หลายปี”
 

คืนสู่รากเหง้า ค้นพบแนวทาง เริ่มสร้างชื่อเสียง

ช่วงรับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รัตนชัย ยังคงผลิตผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งผลงานเข้าประกวดชิงรางวัล “พู่กันทอง” ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่สำหรับแวดวงศิลปะของเมืองไทย

“ที่ผ่านมา ผมผลิตงานศิลปะส่งเข้าประกวดอย่างต่อเนื่องเกือบทุกรายการ รวมทั้งรางวัลพู่กันทอง ซึ่งเป็นการประกวดที่ศิลปินทั่วประเทศอยากมีส่วนร่วม แม้ไม่ได้รางวัลก็ขอให้มีผลงานติดแสดงกับเขาด้วยก็ยังดี เพราะการประกวดรายการนี้จะมีศิลปินทั้งระดับอาจารย์ และศิลปินทั่วไปส่งผลงานเข้าประกวด”

รัตนชัย เพียรพยายามส่งผลงานเข้าประกวดมาเป็นระยะ จนกระทั่งผลงานเริ่มเข้าตากรรมการได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงในงาน แม้ไม่ได้รางวัลแต่นั่นก็ถือเป็นใบเบิกทางที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตัวเขามากยิ่งขึ้น

“จนกระทั่งในปีหนึ่งมีการจัดประกวดรางวัลพู่กันทองเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในพระราชโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา จำได้ว่าตรงกับปี พ.ศ.2535 ผมส่งภาพเข้าประกวดด้วยชื่อภาพ ต่างถิ่นต่างเอกลักษณ์ แต่ไม่ต่างซึ่งความจงรักภักดี ภาพนี้ผมได้ที่ 3 จากการประกวดในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่งานของผมได้รับรางวัล จากที่ก่อนหน้านี้แค่ได้รับเลือกให้ติดแสดง แต่งานชิ้นนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสไปยืนในจุดที่ครั้งหนึ่งเราเคยเห็นพี่ๆ เห็นอาจารย์ทางด้านศิลปะหลายท่านไปยืนอยู่ตรงนั้น ทำให้เราดีใจมากที่พยายามทำจนประสบความสำเร็จ หากผมล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อนก็คงจะไม่มีโอกาสได้ไปยืนตรงจุดนั้น”

ภาพเขียนที่ชื่อ “ต่างถิ่นต่างเอกลักษณ์ แต่ไม่ต่างซึ่งความจงรักภักดี” นอกจากจะทำให้รัตนชัย ไชยรัตน์ ได้รับรางวัลใหญ่แล้ว เหนือสิ่งอื่นใดผลงานชิ้นนี้นี่เองที่ทำให้เขาค้นพบแนวทางการสร้างผลงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาเอง และการได้รับรางวัลคือสิ่งตอกย้ำให้ตัวเขาได้ประจักษ์ว่า แนวทางที่เขาเลือกเองนั้นเป็นเส้นทางเดินที่ถูกต้อง และตรงกับตัวตนของเขามากที่สุดแล้ว และสิ่งนี้นี่เองที่ผลักดันให้ตัวเขาก้าวขึ้นมาสู่ทำเนียบศิลปินลัทธิเรียลลิสติกระดับแถวหน้าอีกคนหนึ่งของเมืองไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ
 
ผลงานภาพเขียนชื่อ เวียนเทียน ทำให้ชื่อของรัตนชัย เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะอย่างกว้างขวาง
 
 มุ่งสะท้อนถิ่นกำเนิด - เทิดทูนสถาบัน

ภาพเขียน “ต่างถิ่นต่างเอกลักษณ์ แต่ไม่ต่างซึ่งความจงรักภักดี” ของรัตนชัย ไชยรัตน์ ซึ่งได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดศิลปะพู่กันทองเฉลิมฉลอง 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หลังจากที่เขาได้มาทำงานรับราชการอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้เขาได้กลับมาใกล้ชิดกับพ่อผู้เป็นนายหนังตะลุง เสมือนได้กลับคืนสู่รากเหง้าของเขาเองอีกครั้งหลังจากห่างไกลไปนาน และเป็นการกลับมาเพื่อค้นพบแนวทางสร้างงานศิลปะของตนเอง แม้ว่าจะเป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญก็ตาม

“ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนเลยว่าตัวเองจะสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองให้มีรูปแบบที่โดดเด่นแตกต่างจากคนอื่นได้อย่างไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างไร จนกระทั่งวันหนึ่งพ่อของผมไปแสดงหนังตะลุง ผมก็ตามพ่อไปด้วย แต่สมัยก่อนหนังตะลุงจะเริ่มแสดงกันดึกมาก ระหว่างรอผมก็เผลอนอนหลับไปที่หลังโรงหนังตะลุงนั่นเอง หลังโรงหนังตะลุงเป็นที่ที่ไม่ใช่ว่าใครจะไปนั่ง หรือนอนอยู่ตรงนั้นได้ แต่อาศัยว่าผมเป็นลูกชายนายหนังเลยไม่มีใครว่า เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาอีกทีผมได้เห็นบรรยากาศของโรงหนังตะลุงที่มีแสงไฟสาดส่องมากระทบเข้ากับใบหน้าของนายหนัง กระทบรูปหนังตะลุง รูปที่อยู่ในมือของพ่อคือ รูปหนังตะลุงที่แกะเป็นพระรูปของในหลวง และพระราชินี ซึ่งพ่อจะอัญเชิญทั้ง 2 รูปนี้ก่อนการแสดงหนังตะลุงทุกครั้ง ฉากและแสดงเงาที่เกิดขึ้นนี้นำมาสู่ผลงานภาพ “ต่างถิ่นต่างเอกลักษณ์ แต่ไม่ต่างซึ่งความจงรักภักดี” ที่ทำให้ผมได้รับรางวัลการประกวดเป็นครั้งแรก”

ในปีต่อมา (2536) มีการประกวดรางวัลพู่กันทองอีกครั้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในพระโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 80 พรรษา ซึ่งรัตนชัย ก็ได้ส่งผลงานเข้าประกวดชื่อภาพเวียนเทียน โดยยังคงใช้รูปแบบการวาดภาพแบบเหมือนจริงหรือเรียลลิสติกเช่นเดิม แต่ภาพเรียลลิสติกของรัตนชัย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นซึ่งถือเป็นลายเซ็นของเขาเองก็ว่าได้ นั่นคือ การหยิบเอาแสงเงายามค่ำคืนไม่ต่างจากแสงเงาที่เห็นจากโรงหนังตะลุงของพ่อมาถ่ายทอดในผลงานภาพชื่อภาพเวียนเทียน ทำให้ภาพเขียนชิ้นนี้มีบรรยากาศที่สื่อสารได้ถึงพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เต็มไปด้วยความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำให้ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดครั้งนั้น

 
สูงสุดสู่สามัญ อุดมการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

นับจากปี 2535 ต่อเนื่องมา รัตนชัย ไชยรัตน์ เป็นจิตรกรที่ส่งผลงานเข้าประกวด ไม่ว่าจะในรายการใดเขามักจะได้รับรางวัลติดไม้ติดมือกลับมาทุกเวที เขาจึงเป็นศิลปินภาคใต้ไม่กี่คนที่ได้ยืนอยู่แถวหน้าเทียบเท่าศิลปินระดับประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ ชื่อของรัตนชัย พุ่งขึ้นถึงขีดสุด ภาพทุกภาพที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมามีนายห้างใหญ่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สั่งจอง และรับซื้อรูปทุกรูปที่เขาวาด และความยิ่งใหญ่นี้จะยังคงมีต่อไปหากไม่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งขึ้นเสียก่อน

หลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง รัตนชัย ไชยรัตน์ ลาออกจากราชการ ปัจจุบันเขาเปิดแกลเลอรี่ขายผลงานศิลปะอยู่ที่บ้านบางเนียง ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา (ใกล้อนุสาวรีย์ เรือ ต.) โดยยังคงสร้างสรรค์ผลงานด้วยการนำเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้มาถ่ายทอดลงในผลงานภาพเขียน และยังคงส่งผลงานเข้าประกวดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรางวัลพู่กันทองที่จัดปีล่าสุดในในโอกาสเฉลิมฉลอง 60 พรรษ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี ซึ่งภาพเขียนที่ชื่อ “ทุกถิ่นที่ ทั่วไทย ต่างร่วมใจ ถวายพระพร” ได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดครั้งนี้ด้วย

แต่ก่อนที่ภาพเขียนชิ้นนี้จะส่งถึงมือกรรมการได้เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นกับ รัตนชัย ไชยรัตน์ เป็นเรื่องที่ไม่คาดฝันที่เขาได้เล่าถวายสมเด็จพระเทพฯ ครั้งเสร็จทอดพระเนตรผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นเรื่องไม่คาดฝันที่รัตนชัยเรียกว่า “ปาฏิหาริย์” เมื่อจู่ๆ ภาพที่เขากำลังนำไปส่งประกวดจาก จ.พังงา ไปยังหอศิลป์ กรุงเทพมหานคร เกิดสูญหายไปในระหว่างการเดินทาง ในขณะที่เวลาปิดรับผลงานกำลังสั้นลงทุกทีๆ เกิดอะไรขึ้นกับศิลปินคนนี้ และเขาผ่านช่วงเวลานั้นไปได้อย่างไร ฟังเรื่องเล่าของเขาได้จากคลิปวิดีโอ

รัตนชัย ไชยรัตน์ ฝากถึงศิลปินรุ่นใหม่ว่า แม้ปัจจุบันศิลปินหลายคนจะมุ่งเน้นสร้างสรรค์ผลงานไปในแนวทางสมัยใหม่ หลายคนไม่สนใจสร้างสรรค์ผลงานในแนวเหมือนจริง สัจจะนิยม หรือแนวเรียลลิสติก เพราะมองว่าไม่ทันสมัย แต่สำหรับตัวเขาเองยืนยันว่าจะเดินไปตามแนวทางนี้ต่อไปโดยมุ่งถ่ายทอดเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อการดำรงไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลัก อันประกอบด้วยชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

“งานศิลปะแนวเรียลลิสติกแบบที่ผมทำอยู่ ถึงแม้หลายคนอาจจะมองว่าเชยแต่ผมยังยืนยันว่าจะสร้างสรรค์ศิลปะแนวเรียลลิสติกต่อไป อย่างน้อยให้ประเทศไทยได้รู้ว่ามีผมคนหนึ่งที่พยายามถ่ายทอดผลงานศิลปะในแนวทางนี้ เพื่อให้ศิลปะแนวนี้ยังคงมีอยู่ไม่สูญสลายไปกับความทันสมัยที่เข้ามา”
 



รัตนชัย ไชยรัตน์ สมัยเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์
แกลเลอรี่ของรัตนชัย ที่บ้านบางเนียง ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น