xs
xsm
sm
md
lg

อีก 3 ปีข้างหน้า สหรัฐอเมริกาจะเลิกไขมันทรานส์แล้ว บอกแล้วไม่ฟัง คนไทยยังจะต้องตายเกลื่อนกันต่อไป !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา คนทั่วโลกต่างรับรู้ถึงอันตรายจาก ไขมันทรานส์ หรือ เนยเทียม มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียได้แพร่กระจาย ทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลและงานวิจัยอันสำคัญ และได้ส่งผลอย่างสำคัญทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจึงต้องยอมจำนนกำหนดนโยบายใหม่เพื่อแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดก็ให้เกิดโรคมากมายในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

นิตยสารไทม์ ฉบับในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ได้ตีพิมพ์เรื่องความเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่านมมีแคลเซียมมากจะเสริมสร้างกระดูก ซึ่งจากการอ้างอิงงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ คิดติดตามผลอย่างยาวนานถึง 20 ปี ในผู้หญิงที่เสียชีวิต 15,541 คน และการศึกษาต่อเนื่อง 10 ปี ในผู้ชายที่เสียชีวิตจำนวน 10,112 คน พบว่าการดื่มนมในปริมาณมากมีความเสี่ยงกับอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดโรคกระดูกแตกร้าวในผู้หญิง

คนในหลายประเทศกำลังได้รับความรู้ใหม่ๆมากขึ้นผ่านข้อมูลของโลกโซเชียลมีเดียที่มีความห่วงใยกันและกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของผู้บริโภคไปจนถึงกระทบต่อนโยบายรัฐบาลอีกด้วย

ย้อนกลับไปนิตยสารไทม์เมื่อ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ได้เผยแพร่ยอมรับว่าไขมันอิ่มตัวไม่ได้เป็นปัญหาต่อโรคหลอดเลือดอีกต่อไป อีกทั้งยังชักชวนให้กินเนยและวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในทางวิทยาศาสตร์ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากงานวิจัยจำนวนมากพบว่าคอเลสเตอรอลนั้น ไม่ได้เป็นปัญหามีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดและหัวใจแต่ประการใด อีกทั้งยังกล่าวถึงปัญหาที่แท้จริงว่าโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดจากไขมันทรานส์หรือเนยเทียม ที่มีการใช้กันมาในวงการอุตสาหกรรมอาหาร

คอเลสเตอรอลที่เข้าใจว่าเป็นผู้ร้ายมากว่าครึ่งศตวรรษกลับมาเป็นพระเอก ไขมันทรานส์หรือเนยเทียมที่ทำมาจากไขมันพืชที่ไม่อิ่มตัวจากที่เข้าใจว่าเป็นพระเอกมานานกว่าครึ่งศตวรรษกลับกลายมาเป็นผู้ร้ายในวันนี้

6- 7 เดือนผ่านไป 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ภายหลังจากการเผยแพร่ของนิตยสารไทม์ คณะกรรมการที่ปรึกษาที่ปรึกษากำหนดแนวทางการบริโภคของสหรัฐอเมริกา (The Dietary Guidelines Advisory committee) ได้ประชุมกันเพื่อทบทวนเรื่องเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล แล้วพบว่าระดับของคอเลสเตอรอลนั้นแท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจแต่ประการใด จนมีการกล่าวยอมรับในวงการแพทย์ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาว่าเกิดความผิดพลาดมาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ความจริงข้อมูลเมืองไทยก็ได้พยายามบอกเล่าเรื่องที่กล่าวนี้มาหลายปีแล้วว่า คอเลสเตอรอลมีประโยชน์ต่อร่างกาย และคนใกล้ตายจะมีระดับคอเลสเตอรอลลดต่ำลงตามสัญญาณชีพที่อ่อนแรงของมนุษย์ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อการบอกกล่าวของคนไทยด้วยกัน (แม้จะอ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศจำนวนมาก) เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักจะเชื่อและนับถือการประกาศจากฝรั่งมากกว่า

แม้ต่อให้ในวันนี้จะเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการถึงความเข้าใจผิดจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม แต่แพทย์ไทยจำนวนมากก็ยังจะเลือกจ่ายยาลดคอเลสเตอรอลให้กับคนไข้ต่อไป เพราะคนไข้ไทยส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษและไม่ได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่เข้าใจผิดตลอดเวลาที่ผ่านมา

และสำหรับแพทย์บางคนที่มีอัตตาสูง มันคงเป็นเรื่องยากที่จะให้ยอมรับว่าสิ่งที่เคยเรียนศึกษามา หรือสิ่งที่เคยทำงานรักษาคนไข้มามันผิดทาง!!!

แล้วในที่สุดก็มาถึงคิว “ไขมันทรานส์” หรือ “เนยเทียม”

คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าเรากำลังกินไขมันทรานส์อยู่ เพราะมันแฝงอยู่ในอาหารที่เราบริโภคไม่รู้ตัวอย่างมาก เช่น กลุ่มไขมันอิ่มตัวในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ต่างมีความไม่อิ่มตัวอยู่จึงหืนง่ายเมื่อโดนออกซิเจนและอนุมูลอิสระเข้าทำปฏิกิริยาได้ง่าย จึงต้องมีการนำไปผ่านความร้อนแล้วเติมไฮโดรเจนเลียนแบบไขมันอิ่มตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้วทำให้ไม่หืนทนทานได้นาน แต่กลับทำให้โครงสร้างทางเคมีเปลี่ยนไปโดยไฮโดรเจนสลับข้างกันในตำแหน่งที่ไม่อิ่มตัว บ้างก็กลายเป็นไขมันที่ไม่หืนแม้เวลาผ่านไปยาวนาน บ้างก็กลายเป็นไขมันหนืดๆกึ่งเหลวงกึ่งแข็งคล้ายๆเนยหรือชีส บ้างก็เป็นของแข็งในรูปของเนยขาว

ไขมันที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเลียนแบบไขมันอิ่มตัวเหล่านี้ แฝงอยู่ในอาหารเพื่อถนอมอาหารให้มีอายุยืนยาวขึ้นจะได้ประหยัดต้นทุน ซึ่งอยู่ในอาหารที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เช่น ข้าวโพดคั่วสำหรับอบในตู้ไมโครเวฟ การทอดมันฝรั่งทอดที่ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวในร้านอาหาร โดนัท คุกกี้ เนยถั่ว มาร์การีน ครีมเทียม เค้ก ขนมกรุปกรอบ ซาลาเปา ขนมปังบางชนิด แครกเกอร์ ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มทรีอินวัน ฯลฯ ซึ่งสามารถหาได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เกตในห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยทั่วไป

แต่ไขมันกลุ่มนี้ได้รับการยอมรับในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วว่าคือตัวการทำให้เกิดการเกิดโรคหลอดเลือดอย่างมหาศาลในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนคนในสหรัฐอเมริกาที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากในยุคหลังนั้นจะเริ่มรู้ตัวมากขึ้นกับความจริงเหล่านี้

เพราะย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2452 คนอเมริกันบริโภคเนยมากถึงกว่า 9 กิโลกรัมต่อปีต่อคน และกินเนยเทียมในรูปของมาร์การีนอยู่ในระดับต่ำประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อปีต่อคน ปรากฏว่าในเวลานั้นคนอเมริกันมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจต่อประชากรหนึ่งแสนคนอยู่ในระดับไม่มากนักประมาณ 170 - 180 คน เท่านั้น

แต่ต่อมาในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2503 - 2523 คนอเมริกันกลัวไขมันอิ่มตัวกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะคิดว่าไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลจากเนยเป็นปัญหาทำให้เกิดโรคหัวใจ จึงหันไปกินเนยเทียมหรือไขมันทรานส์กันมากขึ้นเพราะเชื่อว่าเป็นไขมันจากพืช(ที่เลียนแบบเนย)ไม่มีคอเลสเตอรอลจึงน่าจะปลอดภัยกว่า โดยกินเนยแท้ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 2.26 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากสมัยก่อน 9 กิโลกรัม) แต่กลับไปกินเนยเทียมในรูปมาร์การีนสูงเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากสมัยก่อน 0.5 กิโลกรัม) ผลปรากฏว่าช่วงเวลานั้นอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 350 - 370 คนต่อประชากรแสนคน

หลังจากนั้นเป็นต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา คนอเมริกันตื่นตัวความจริงเหล่านี้มากขึ้น การบริโภคมาร์การีนเริ่มลดลงในจนปี พ.ศ. 2547 การบริโภคไขมันทรานส์ในรูปของมาร์การีนลดลงเหลือประมาณไม่เกิน 2.27 กิโลกรัมต่อคนต่อปีส่งผลทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจก็ลดลงไปด้วย ทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงเหลือประมาณ 220 คนต่อประชากรแสนคน

แต่ไขมันทรานส์ ไม่ได้มีแค่มาร์การีนเท่านั้น ยังมีซ่อนอยู่ในรูปอาหารอีกหลายชนิดรวมไปถึงครีมเทียมด้วย!!!

แต่การตื่นตัวของประชาชนผู้บริโภคชาวอเมริกัน เป็นผลทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องมีการประกาศให้ติดฉลากและควบคุมปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร เมืองหลายแห่งประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ในการทำอาหารในภัตตาคาร ด้วยมาตรการเหล่านี้เองส่งผลทำให้คนอเมริกันลดการบริโภคไขมันทรานส์ทุกชนิด จากปี พ.ศ. 2546 ที่บริโภคไขมันทรานส์กันประมาณวันละ 0.46 กิโลกรัมต่อวัน มาจนถึงในปี พ.ศ. 2554 คนอเมริกันบริโภคไขมันทรานส์กันประมาณวันละ 0.10 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น นั่นหมายถึงการบริโภคไขมันทรานส์นั้นลดลงไปกว่า 78%

ด้วยการตื่นตัวของผู้บริโภคที่ไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้ ในที่สุดองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะทำการยกเลิกห้ามใช้ไขมันทรานส์ทุกชนิดในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2561 หรือประมาณอีก 3 ปีข้างหน้า

เพราะแม้แต่ฉลากในผลิตภัณฑ์อาหารของสหรัฐอเมริกาที่น้อยกว่า 0.5 กรัม (0.0005 กิโลกรัม)ให้ถือว่ามีไขมันทรานส์เป็นศูนย์นั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็ยังระบุว่าแม้ในปริมาณน้อยเช่นนั้นก็ยังถือว่าไม่ปลอดภัย

นั่นหมายถึงว่าแม้จะมีการประกาศว่าจะเลิกใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันทรานส์อยู่ดี การประกาศเรื่องสำคัญนี้ได้เผยแพร่ไปในสื่อที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น นิตยสารฟอร์บส์ นิตยสารไทม์ ฯลฯ

นิตยสารไทม์ ได้รายงานว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ไขมันทรานส์นั้นต้องติดอยู่ในฉลากที่แสดงโภชนาการที่คนทั่วไปสามารถเห็นได้ ทำการควบคุมปริมาณ และสุดท้ายก็ประกาศเตรียมยกเลิกในอีก 3 ปีข้างหน้า

นิตยสารไทม์ ได้สัมภาษณ์ ด็อกเตอร์ สตีเวน นิสเซน หัวหน้าคณะหลอดเลือดหัวใจของคลีนิค คลิฟแลนด์ ได้ให้ความเห็นสนับสนุนในแนวทางดังกล่าวขององค์การอาหารและยา และกล่าวว่า

มันดูเหมือนว่าไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวซึ่งเป็นไขมันที่อยู่ในน้ำมันมะกอกนั้นเป็นที่ชื่นชอบ และไขมันอิ่มตัวซึ่งอยู่ในน้ำมันมะพร้าวนั้นก็เป็นธรรมชาติ แต่ไขมันทรานส์นั้นชัดเจนว่าเป็นอันตราย

ขนาดสหรัฐอเมริกาประกาศชัดเจนอย่างนี้แล้ว แต่รัฐบาลประเทศไทยก็ยังคงเฉยเมยกับเรื่องสำคัญเช่นนี้ ไม่มีนโยบายอะไรทั้งสิ้น นอกจากจะเน้นไปเรื่องการรักษาฟรีปลายเหตุแห่งโรคโดยไม่ใส่ใจต้นเหตุแห่งโรคที่มีไขมันทรานส์เกลื่อนกลาดอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารไทย

ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลไทยเช่นนี้ อุตสาหกรรมอาหารไทยที่ใช้ไขมันทรานส์ก็ยังคงร่ำรวยกันต่อไป ผู้บริโภคก็คงต้องซวย ป่วยและตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น งบประมาณเพื่อรักษาฟรีอีกเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ


กำลังโหลดความคิดเห็น