xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ร่วมเปิดหนังสือ “ติมอร์-เลสเต เอกราชเลือด” ชี้น่าสนใจสำเร็จได้ด้วย ยูเอ็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ร่วมงาน เปิดตัวหนังสือ “ติมอร์-เลสเต เอกราชเลือด” เขียนโดย “องอาจ” พร้อมคาดติมอร์ตะวันออกร่วมอาเซียนในอนาคต ชี้น่าสนใจ สำเร็จได้ด้วย “ประชามติ”



นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรค และอดีต ส.ส.อีกหลายคน ร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “ติมอร์-เลสเต” เอกราชเลือด ที่เขียนโดยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยเนื้อหาในหนังสือเป็นการบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวติมอร์ ระหว่างที่นายองอาจได้รับเชิญเข้าร่วมสังเกตการณ์นานาชาติของการลงประชามติ ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 แล้ว

นายองอาจกล่าวว่า ชาวติมอร์ตะวันออกพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากทั้งโปรตุเกส และอินโดนีเซีย กระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งกระทบประเทศอินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเผด็จการซูฮาโต มาเป็นผู้นำคนอื่นและสหประชาชาติเริ่มเข้ากดดันร่วมกับชาวติมอร์ตะวันออก จนกระทั่งได้เอกราชในที่สุดซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะเต็มไปด้วยอันตรายจากการต่อสู้ระหว่างอินโดนีเซียกับชาวติมอร์ที่ต้องการเอกราช เพราะบ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ โดยในช่วงเวลานั้นเกิดความสูญเสียจำนวนมากกว่าที่ติมอร์ตะวันออกจะได้เอกราชกลับคืนมา

“มีผู้ไปลงประชามติกว่าร้อยละ 98 มีผู้ที่ขอให้แยกตัวเออกถึงร้อยละ 78 ติมอร์ตะวันออกจึงได้แยกตัวออกมาเป็นเอกราชไม่อยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซีย แต่ก็ยังเกิดการเข่นฆ่าจนสหประชาชาติต้องส่งทหารเข้าไปดูแลเหตุการณ์ กระทั่งสถานการณ์สงบในช่วงปี พ.ศ. 2545 ก็เริ่มมีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรก ใช้เวลา 3 ปีหลังการทำประชามติ ติมอร์ตะวันออกก็มีประธานธิบดีคนแรก” นายองอาจกล่าว พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันติมอร์ตะวันออกยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนเนื่องจากมีบางประเทศคัดค้าน แต่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ได้ เพราะแยกเรื่องกีฬาออกจากการเมืองระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศไทยที่กำลังจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไว้ในตอนท้ายของหนังสือด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องติมอร์ตะวันออกในที่สุดจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เพียงแต่ที่ยังไม่สามารถเข้ามาได้ เพราะมีการอ้างว่าอาเซียนมีความยุ่งยากในการทำประชาคมอาเซียนอยู่แล้ว หากนำประเทศที่มีความไม่พร้อมเข้ามาก็จะทำให้การทำงานยากขึ้น โดยสิ่งที่น่าจะเรียนรู้จากติมอร์ตะวันออก คือ การเรียกร้องเสรีภาพที่จบลงด้วยวิธีการลงประชามติ




กำลังโหลดความคิดเห็น