เอเอฟพี – สถาบันคลังสมองหนึ่งออกรายงานเตือนในวันนี้ (25) ว่า กองทัพอินโดนีเซียกำลังมีบทบาทในชีวิตพลเรือนมากขึ้น หลังจากที่พวกเขาถูกลดทอนอำนาจภายหลังการล่มสลายของยุคเผด็จการ ซูฮาร์โต
สถาบันเพื่อการวิเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับความขัดแย้ง (IPAC) ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในแดนอิเหนา ระบุในรายงานว่า ในยุคของประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กองทัพได้กลับมาขยายอิทธิพลของพวกเขาเข้าไปในชีวิตพลเรือนอีกครั้ง
“ยิ่งพวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมเช่นนี้นานเท่าไร่ อิทธิพลทางการเมืองของพวกเขาก็จะยิ่งยิ่งใหญ่และยากต่อการดึงถอนออกมามากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาได้รับการคุ้มครองให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายพลเรือน” รายงานชิ้นนี้เตือน
กองทัพค่อยๆ ขยายอิทธิพลของพวกเขาในชีวิตพลเรือด้วยการลงนามข้อตกลงกับกระทรวงต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถรับงานต่างๆ อย่างเช่น การแจกจ่ายปุ๋ย , เฝ้าเรือนจำ และโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน IPAC ระบุ
ในเดือนนี้กองทัพได้บรรลุการทำบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานต่อต้านยาเสพติดแห่งชาติ เพื่อช่วยทำสงครามยาเสพติด อันเป็นการณรงค์ที่ผลักดันโดย วิโดโด ซึ่งได้สั่งประหารชีวิตนักโทษยาเสพติดชาวต่างชาติไปเมื่อไม่นานมานี้
รายงานระบุว่า กองทัพดูเหมือว่าจะใช้ประโยชน์จากการที่ประธานาธิบดีถูกรุมเร้าด้วยวิกฤตปัญหามากมาย และกองกำลังตำรวจที่มีการคอร์รัปชั่นอย่างหยั่งลึกและไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน
กลุ่มสิทธิก็เป็นกังวลถึงอิทธิพลของกองทัพที่กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย อัล อาราฟ จากกลุ่มสิทธิ Imparsial บอกกับเอเอฟพีว่า “เป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีอาจกำลังทำเป็นมองไม่เห็น เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากองทัพ”
“เรากลัวว่าความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างในอดีตอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง” เขากล่าว
กองทัพได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายในช่วงการปกครองหลายทศวรรษของ ซูฮาร์โต ซึ่งดำรงตำแหน่งจอมพล เมื่อซูฮาร์โตสูญเสียอำนาจในปี 1998 และกระบวนการประชาธิปไตยได้เริ่มต้นขึ้น กองทัพก็ถูกลิดรอนอิทธิพลในชีวิตพลเมืองไปเป็นอันมาก
สมาชิกของกองทัพไม่มีสิทธิเป็นผู้ว่าการจังหวัด , รัฐมนตรี หรือสมาชิกรัฐสภา และกองทัพถูกจำกัดบทบาทแค่การป้องกันประเทศเท่านั้น