xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอิเหนาโดนจวกยับ หลังตั้งอดีต “เสธ.ทบ.สมัยเผด็จการ” เป็น รมว.กลาโหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ไรอามิซาร์ด ไรอาซูดู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย
เอเอฟพี - โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีนักปฏิรูปคนใหม่ของอินโดนีเซียกำลังตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากการที่ได้แต่งตั้งให้นายพลสายเหยี่ยวคนหนึ่งขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยบรรดานักเคลื่อนไหวออกมากล่าวในวันนี้ (29 ต.ค.) ว่า นี่นับเป็นการก้าวถอยหลังในด้านสิทธิมนุษยชน

วิโดโด ผู้นำคนแรกของประเทศที่ไม่ได้มาจากชนชั้นนำทางการทหารและการเมือง ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่เหล่าผู้สังเกตการณ์ ด้วยการแต่งตั้ง พล.อ.ไรอามิซาร์ด ไรอาซูดู อดีตเสนาธิการทหารบก เข้าสู่คณะรัฐมนตรีของเขาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์นี้

กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าวหาว่า การทารุณกรรมมากมายเกิดขึ้นในสมัยที่เขาเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการทางทหารปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดอาเจะห์ ซึ่งอยู่บนเกาะสุมาตราและอยู่ในแคว้นปาปัวตะวันตก

เมื่อปี 2003 เขาถูกวิจารณ์จากการที่ให้การยกย่องกลุ่มทหาร ซึ่งถูกจำคุกฐานสังหารผู้นำฝักใฝ่เอกราชของปาปัวคนหนึ่ง ว่าเป็น “วีรบุรุษ”

จอห์น เอ็ม.มิลเลอร์ จากเครือข่ายปฏิบัติงานอินโดนีเซียและติมอร์ตะวันออก (ETAN) กล่าวว่า “การแต่งตั้งบุคคลสายเหยี่ยวอย่าง ไรอามิซาร์ด ไรอาซูดู ทำใหเราได้เห็นว่า ประธานาธิบดี วิโดโด ไม่ได้จริงจังกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหรือการพยายามให้ความช่วยเหลือแคว้นปาปัว”

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ พันธมิตรสำคัญของอินโดนีเซีย ได้พยายามที่จะลดทอนน้ำหนักของความกังวลนี้ โดย เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า “แน่นอนว่าเราทราบดีถึงข้อกล่าวเรื่องความรุนแรงด้านสิทธิมนุษยชนที่กองทัพอินโดนีเซียได้ก่อขึ้น ขณะที่พลเอกผู้นี้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก”

“อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบว่าข้อกล่าวหาใดที่เชื่อมโยงรัฐมนตรีกลาโหมคนนี้กับความรุนแรงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเจาะจง”

เธอยังชี้ด้วยว่า กองทัพของประเทศนี้ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญภายใต้ระบอบเผด็จการ ซูฮาร์โต ได้เปลี่ยนแปลงไปใน “แนวทางที่มีนัยยะสำคัญ” นับตั้งแต่ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ได้กลายเป็นประชาธิปไตยในปี 1998

ความเคลื่อนไหวนี้ยังถูกวิจารณ์เพราะขัดกับประเพณีที่มีขึ้นมานับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองนาน 30 ปีของ ซูฮาร์โต ที่กำหนดให้แต่งตั้งพลเรือนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าสถาบันพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ

ในสมัยการปกครองแบบเผด็จการ กองทัพอินโดนีเซีย ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองมากมายมหาศาล ต่างสุขสำราญกับการเป็นผู้แทนรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและผลกำไรของเครือธุรกิจขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต กองทัพได้ถูกถอดออกจากที่นั่งในรัฐสภาและมีบทบาทในกิจการสาธารณะน้อยลงกว่าเดิมมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น