xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ถอยแล้วสร้างสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ในแนวเดิม ลดกระทบชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กฟผ.ยอมถอยแล้ว หลังชาวบ้านในพื้นที่ ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต รวมตัวค้านโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2-ภูเก็ต 3 หันกลับไปใช้แนวเดิมที่เคยมีการก่อสร้าง ระบุปี 2562 ดำเนินการแล้วเสร็จรองรับการส่งไฟฟ้าให้จังหวัดภูเก็ตได้อีกหลายปี แต่ระบุในช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างอาจจะมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับบ้างเพราะต้องรื้อสายส่ง 115 กิโลโวลต์ออก ขณะที่ชาวบ้านคิดไกลขอเอาสายส่งไฟฟ้าลงดิน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมกลุ่มจังหวัดอันดามัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) นำโดย นายวิชัย สิมะธัมนันท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายสุรพงษ์ รังสีสมบัติศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายที่ดินฯ นายวรพจน์ อินทร์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ และคณะ ร่วมรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงข้อมูลโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2-ภูเก็ต 3 ที่จะสร้างสายส่งผ่านในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

โดยในส่วนของพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวเรียกร้องให้ทางการไฟฟ้าเปลี่ยนเส้นทางการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ไปอยู่ในแนวสายส่งเดิมที่มีการเดินสายไว้แล้ว แทนที่จะมาเปิดแนวส่งไฟฟ้าแนวใหม่ เพราะการเปิดแนวใหม่นั้นจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจำนวนมาก รวมทั้งเรียกร้องให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำเทคโนโลยีก่อสร้างรูปแบบใหม่ เช่น การนำสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดิน เพราะจะไม่ทำให้บดบังทัศนียภาพของเมืองภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว จนเป็นที่มาของการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฯ นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวีระ เกิดศิริมงคล นายอำเภอถลาง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายสุรทิน เลี่ยนอุดม แกนนำฯ ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคเอกชน ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ อ.ถลาง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมรับฟัง

นายวิชัย สิมะธัมนันท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ชี้แจงที่มาของโครงการฯ ว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต รับไฟฟ้ามาจากจังหวัดพังงา ด้วยสายส่ง 2 สาย ได้แก่ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ พังงา 2-ภูเก็ต 3 และระบบโครงข่ายไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ พังงา 2-ภูเก็ต 3 มีความสามารถในการรับไฟฟ้าปัจจุบันของ จังหวัดภูเก็ตอยู่ที่ 455 MW จากการที่ จ.ภูเก็ต มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทางกระทรวงพลังงาน (พน.) จึงมอบหมายให้ กฟผ.เร่งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โดยให้เชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้าระหว่างภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยให้ กฟผ.ก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 392 MW และคาดว่าในปี พ.ศ.2559 จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 420 MW และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

“สำหรับแผนงานเสริมสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าของจังหวัดภูเก็ต กำหนดติดตั้ง Capacitor Bank เพิ่มเติมในปี พ.ศ.2559 โดยติดตั้ง SVC, TR 230/115 ชุดที่ 3-4 ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก่อสร้าง 230 กิโลโวลต์ Detour line แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2-ภูเก็ต 3 ใหม่ภายในปี 2562 เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาว ป้องกันการเกิดไฟฟ้าดับในภาคใต้ สนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต รองรับการเป็น Smart Grid เพิ่มความคล่องตัวในด้านปฏิบัติการควบคุม และการจ่ายไฟฟ้าในภาคใต้ (รวมทั้งกรณีที่ต้องปลดโรงไฟฟ้าเข้า/ออกในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมบำรุงรักษา) ลดความเสียหายจากการเกิดไฟฟ้าดับ”

นายวิชัย กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ กฟผ. ได้นำเสนอแนวทางในการดำเนินการมา กฟผ. ขอให้ก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ โดยใช้แนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม และขอให้นำเทคโนโลยีในการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น การก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าใต้ดิน การก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าใต้น้ำ (submarine cable) แทน เป็นต้น ซึ่งจากการนำข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ไปพิจารณาในที่ประชุมระดับผู้บริหารของ กฟผ. โดยคำนึงถึงปัจจัยทุกด้าน

และจากการหารือได้ข้อสรุปการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟ ฟ้า 500 กิโลโวลต์ จะสร้างในแนวสายส่งเดิม ในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ ซึ่งเป็นไปตามที่ประชาชนในพื้นที่ยื่นข้อเสนอมา แต่การดำเนินการนั้นต้องมีปัญหาบ้าง เมื่อสร้างในแนวเขตสายส่งเดิมก็ต้องมีการยกเลิกสายส่ง 115 กิโลวัตต์ เพื่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ก็ต้องทำการรื้อถอนระบบโครงข่ายไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ จำนวน 2 วงจรออก เมื่อยกเลิกออกไปก็จทำให้เสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ตไม่มั่นคง มีความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าดับได้ และต้องทำงานใกล้สายส่ง 230 กิโลโวลต์ ที่จ่ายไฟอยู่ ทำได้ยาก และอันตรายมาก แต่ทาง กฟผ. จะมีการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ขึ้นมาทดแทนชั่วคราวก่อน เพื่อที่จะแก้ปัญหาไฟฟ้าไม่ให้ดับ หลังจากนั้น เมื่อก่อสร้างระบบโครงข่าย 500 กิโลโวลต์เสร็จ ก็จะทำการรื้อถอนระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ชั่วคราวออกทันที

นอกจากนี้ ทางกฟผ.มีการปรับแก้แนว Detour line ออกไปใกล้ขอบแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมมากขึ้น อีกทั้งจำเป็นต้องยกระดับความสูงของเสาขึ้น และอาจจะทำให้ติดปัญหาข้อกำหนดความปลอดภัยด้านการบินของท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะเสาที่อยู่บริเวณท่าอากาศยานดังกล่าว

โดยในที่ประชุมมีประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ในส่วนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และภาคเอกชนภูเก็ต สามารถสรุปว่า เนื่องจากพื้นที่ภูเก็ตมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง และราคาที่ดินก็สูงตามไปด้วย เมื่อมีการรอนสิทธิก็ทำให้สูญเสียโอกาส รวมถึงทิวทัศน์ที่สวยงาม และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคตจึงอยากให้มีการนำลงดิน หากทำไม่ได้ก็อยากให้มีการรับเรื่องนี้ไปทำการศึกษาต่อ รวมถึงอยากให้มีการศึกษาเรื่องความคุ้มทุนของโครงการนำสายไฟลงดินด้วย

 
 





กำลังโหลดความคิดเห็น