xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ถกปัญหาใช้ยาแก้ไขผิดประเภทในกลุ่มวัยรุ่น จับกุมกว่า 1,700 คดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - สาธารณสุขฯ ถกปัญหายาแก้ไอใช้ผิดประเภท พบวัยรุ่นใช้ผิดประเภท ด้านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เผยพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2555-2558 มีการจับกุมผู้กระทำความผิดในคดียาแก้ไอจำนวนกว่า 1,786 คดี

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหาร นายแพทย์พนัส โสณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วย นายพิสุทธิ์ เจริญฤทธิ์ ตัวแทน ป.ป.ส.ภาค 8 นายศรณ์ รักรงค์ ตัวแทนศูนย์ยาเสพติดจังหวัดกระบี่ ร่วมแถลงข่าวการหาแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิดในกลุ่มวัยรุ่น เช่น ยาแก้ไอยาน้ำ แก้แพ้ลดน้ำมูก ภายหลังการประชุมเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค 14 จังหวัดภาคใต้ จัดขึ้นที่โรงแรมโกลเด้นบีช ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่

นายแพทย์บุญชัย กล่าวว่า จากการดำเนินงานร่วมกันทุกภาคส่วน พบว่า ในปี 2555-2558 ในภาคใต้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดในคดียาแก้ไอ จำนวน 1,786 คดี ซึ่งในปี 2558 มีคดีเกิดขึ้นมากที่สุดที่จังหวัดสงขลา 870 คดี จังหวัดสตูล 170 คดี ซึ่งสังเกตเห็นอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์การใช้ยาในทางที่ผิดในกลุ่มวัยรุ่นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จับได้จากร้านขายยา ร้อยละ 31 และระหว่างขนส่ง ร้านชำ และรถเร่ ร้อยละ 69 โดยสำนักงานสาธารณสุข 14 จังหวัดภาคใต้ มีมาตรการในการเฝ้าระวังตรวจสอบผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในทุกพื้นที่จังหวัดทั่วภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้น

เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการควบคุมการจำหน่ายยาแก้ไอตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การควบคุมการจำหน่ายยาแก้ไอที่มีไดเฟน ไฮดรามีน หรือโปรเมทาซีน โดยจำกัดปริมาณการจำหน่ายจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขายไม่ควรจ่ายเกินครั้งละ 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์แต่ขณะนี้มีแนวโน้มในการเลี่ยงไปใช้ยาน้ำแก้แพ้ลดน้ำมูกแทนยาน้ำแก้ไอ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันในการหามาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิดต่อไป

และขอให้บริษัทผู้ผลิตยา ร้านขายยาทุกแห่ง และผู้ที่กำลังจะนำยาแก้ไอ หรือยาแก้แพ้น้ำมูกไปจำหน่ายให้แก่กลุ่มวัยรุ่น หรือบุคคลใดที่คาดว่าจะนำไปใช้ในทางที่ผิดอย่าได้กระทำผิดกฎหมายเด็ดขาด ถ้ามีการตรวจพบจะดำเนินคดีต่อผู้ที่ฝ่าฝืนทุกรายมีโทษถึงขั้นพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หากผู้บริโภคพบแหล่งใดมีการขายยาที่ผิดกฎหมายสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น