อย. ชี้แพทย์ออกใบสั่งยาให้ประชาชนซื้อเองที่ร้านขายยาสามารถทำได้ ยันมีเภสัชกรประจำร้านการันตีคุณภาพและความปลอดภัย ระบุมีกฎหมายกำหนดคุณภาพมาตรฐานร้านขายยาชัดเจน
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้แพทย์ออกใบสั่งยาให้ประชาชนไปซื้อเองที่ร้านขายยา เพื่อแก้ปัญหา รพ.เอกชน คิดค่ารักษาแพง โดยนายกสมาคม รพ.เอกชน ไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อเกิดผลกระทบจากการใช้ยาจะไม่มีผู้รับผิดชอบ และร้านยาจำเป็นจะต้องได้คุณภาพ ว่า ตามกฏหมายกำหนดให้ร้านขายยาทุกประเภทต้องมีใบอนุญาตการขายยา ยกเว้นแพทย์ที่จ่ายยาให้กับคนไข้ของตนเองในสถานพยาบาล ไม่ต้องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ดังนั้น หากแพทย์จะออกใบสั่งยาให้คนไข้ไปซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับมาตรฐานก็สามารถทำได้ ที่สำคัญร้านขายยา ที่ได้รับใบอนุญาตจะมีเภสัชกรประจำก็ถือเป็นการการันตีในตัว
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า การควบคุมร้านขายยา ที่ผ่านมา อย. ได้ออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยจะกำหนดให้ร้านขายยาที่จะมาขอใบอนุญาตใหม่ทุกแห่ง ต้องมีเภสัชกรประจำร้านตลอดการเปิดจำหน่าย ซึ่งตรงนี้จะทำให้ร้านขายยามีคุณภาพ และทำให้ผู้ใช้ยามีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น หากใครละเมิดจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และอาจนำไปสู่การพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวได้ครั้งละ 120 วัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการยาด้วย ส่วนร้านขายยาเก่าที่เคยขอใบอนุญาตไปแล้ว ให้เวลา 8 ปี ในการดำเนินการ ยกเว้นหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศให้นำร่องในพื้นที่ใด เป็นต้น
“การออกใบสั่งยาไปซื้อตามร้านขายยานั้น ในแง่ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ หากร้านขายยานั้นมีเภสัชกรประจำ ก็จะการันตีได้ว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญเราต้องยกระดับยา คุณภาพยา สารสำคัญของยานั้นๆให้เหมือนกันในทุกรพ.ด้วย” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่