xs
xsm
sm
md
lg

“มวลชน” และ “การข่าว” จุดอ่อนที่ “กอ.รมน.ภ.4 สน.” ยังแก้ไม่ตก / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ความรุนแรงครั้งล่าสุดจากปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา คือ การสังหารเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองร้อย ร.15221 ฉก.ยะลา 12 ในพื้นที่บ้านปูลาปากัส ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา เสียชีวิตทั้งคันรถ 4 นาย พร้อมทั้งปลดอาวุธประจำกายไปด้วย แต่ในขณะที่จะเตรียมใช้น้ำมันเบนซินราดร่างผู้เสียชีวิตเพื่อเผาอย่างโหดเหี้ยมนั้น เผอิญมีประชาชนขับรถยนต์ผ่านมา ร่างของทหารทั้ง 4 นาย จึงรอดพ้นจากการถูกเผาสดๆ อย่างหวุดหวิด
 
ในเวลาไล่เลี่ยกัน กลุ่มก่อการร้ายได้ลอบวางระเบิด ชป.ร้อย ร.2533 ฉก.ปัตตานี เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนบาดเจ็บทั้งสาหัส และไม่สาหัส 8 นาย ด้วยกัน
 
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นทั้งที่ จ.ยะลา และที่ จ.ปัตตานีในวันเดียวกัน แม้ว่าไม่ได้บ่งบอกถึงนัยอะไร แต่ก็ได้แสดงให้เห็นโดยไม่ต้องบอกว่า 1 ปีผ่านไปภายใต้การแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นต่อแผ่นดิน 4 จังหวัดชายแดนใต้ของ คสช. ยังไม่สามารถที่จะให้คำตอบแก่คนในพื้นที่ และประชาชนทั้งประเทศว่า แผ่นดินปลายด้ามขวานจะสงบสุข
 
เพราะในพื้นที่ล่อแหลมอย่างพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่อันมีกองกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก คนร้ายยังสามารถที่จะปฏิบัติแบบเย้ยฟ้าท้าดิน จนสร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่ได้อย่างไม่เกรงกลัว
 
ทั้งที่กองทัพมีกำลังพลมากกว่า มีอาวุธที่ดีกว่า กำลังพลมีขีดความสามารถที่เหนือกว่า ในขณะที่กลุ่มก่อการร้ายมีเพียงหยิบมือเดียว ใช้อาวุธจากกองกลางแบบหมุนเวียนในการปฏิบัติการต่อเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายจะประสบความสำเร็จทุกครั้ง
 
ยุทธวิธีของกลุ่มก่อการร้ายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลา กลุ่มก่อการร้ายใช้ “ระเบิดเล็ก” แต่มี “ปริมาณมาก” และวาง “กระจาย” ทั่วเมืองถึง 44 จุด โดยตั้งเวลาให้ระเบิดทำงานตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. จนถึงไปวันที่ 16 พ.ค. หรือเป็นเวลาถึง 3 วัน
 
เป็น 3 วันที่สร้างความหวาดผวาให้แก่คนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา เพราะไม่รู้ว่าระเบิดจะถูกซ่อนอยู่ที่ตรงไหน ไม่รู้ว่านอนอยู่ดีๆ จะมีระเบิดเกิดขึ้นในบ้าน หรือในร้านค้าของตนเองหรือไม่ และไม่รู้ว่าเมื่อออกจากบ้านไปทำธุระแล้วจะไปเจอระเบิดที่หนแห่งใด
 
เช่นเดียวกับการสังหารเจ้าหน้าที่ทหารที่ อ.รามัน จ.ยะลา 4 นาย จะเห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายใช้วิธีการใหม่คือ การใช้รถบรรทุกทรายเป็นพาหนะเพื่อการพรางตัวให้สายข่าวและเจ้าหน้าที่ทหารไม่สงสัย เพราะเป็นรถบรรทุกทรายที่เป็นวัสดุก่อสร้างทั่วไป ซึ่งมีสิทธิที่จะวิ่งเพ่นพ่านบนท้องถนน ทั้งในเมือง และนอกเมือง
 
ส่วนการใช้รถยนต์ทำเป็นคาร์บอมบ์ที่มีเป้าหมายต่อชุดลาดตระเวนเส้นทางของเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.24 จ.ปัตตานี แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่ซับซ้อน แต่ก็เป็นการบอกเหตุว่า กลุ่มก่อการร้ายมี “มวลชน ในพื้นที่ และมี “การข่าว ที่เหนือกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ
 
แน่นอนว่าการก่อเหตุร้านในปัจจุบัน และในอนาคตในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการพลิกแพลงด้วยวิธีการใหม่ๆ แปลกๆ ขึ้นเรื่อยๆ และการป้องกันจะยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งความยุ่งยากดังกล่าวจะเป็นการกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มความหวาดระแวงมากขึ้น
 
เป็นความหวาดระแวงที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่มีต่อประชาชน เพราะแยกไม่ออกว่าประชาชนคนไหนเป็นคนร้าย รถยนต์คันไหนที่น่าสงสัย รถจักรยานยนต์คันไหนที่เป็น จยย.บอมบ์ ไหนคือผู้หญิงที่ซุกซ่อนระเบิด ไหนคือผู้ชายที่ปลอมเป็นผู้หญิงเพื่อทำหน้าที่ก่อเหตุร้าย ฯลฯ
 
ยังไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตวิธีการก่อการร้ายแบบ “สงครามกองโจร” หรือสงคราม “อสมมาตร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้ก่อการร้ายจะใช้วัตถุใด หรือสิ่งของใดในการประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง หรือจะใช้วิธีการพรางตัวเป็นเจ้าหน้าที่ และยังมีรูปแบบอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ทำ  เช่น เป็นครู เป็น ข้าราชการพลเรือน เป็นเจ้าหน้าที่อนามัย ฯลฯ เพื่อเข้าไปวางระเบิดในสถานที่ที่ต้องการ เพราะที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้ายพรางตัวในการตั้งด่านปล้นชิงรถยนต์ ปลอมเป็นทหารพราน เป็นตำรวจ จนวิธีการนี้กำลังจะใช้ไม่ได้ผล
 
สุดท้ายความหวัง หรือนโยบายที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องการให้ลดความหวาดระแวง สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ สิ่งนี้จะถูกความ “หวาดระแวง” ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องใช้ชีวิตไปเสี่ยงต่อความเป็นความตายทำให้เลือนหายไปหมดสิ้น เพราะยิ่งเจ้าหน้าที่เสียชีวิต และบาดเจ็บมากเท่าไหร่ สายตาแห่งความหวาดระแวง หรือความไม่ไว้ใจก็จะยิ่งมากขึ้น และสถานการณ์ของความเลวร้ายจะไม่มีวันที่จะลดลง
 
ยุทธวิธีธรรมดาๆ ที่กลุ่มก่อการร้ายนำมาใช้ต่อเจ้าหน้าที่รัฐในวันนี้คือ ลดความถี่ของการปฏิบัติการ แต่เพิ่มความรุนแรงในการก่อเหตุ ย้ายพื้นที่ในการก่อเหตุวนเวียนไป-มา สร้างความปั่นป่วนให้แก่เจ้าหน้าที่ในการต้องระวังป้องกันเหตุร้าย ซึ่งเป็นวิธีการให้เจ้าหน้าที่เกิดความเบื่อหน่าย และกลุ่มก่อการร้ายก็ฉวยโอกาสในการก่อเหตุเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ “มวลชน” และเพื่อให้เห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายยังมีกองกำลังที่มีศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารที่เหนือกว่ากองกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่
 
เหตุความเพลี่ยงพล้ำหลายต่อหลายครั้งติดๆ กันของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เกิดขึ้นต่อกองกำลังเล็กๆ เพียงหนึ่งหยิบมือ น่าจะประเมินได้ว่ามาจากความผิดพลาด 2 ประการด้วยกัน
 
หนึ่งคือ ในระยะหลัง “งานการข่าว” ในพื้นที่มีความผิดพลาด เช่น การข่าวที่ถูก “ซ้อนแผน” จนมีการวิสามัญประชาชน 4 ศพที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การข่าวที่ “บอดสนิท” ในการก่อวินาศกรรมในพื้นที่เทศบาลนครยะลา และในที่อื่นๆ อีกหลายพื้นที่
 
และอีกหนึ่งความผิดพลาดคือ เรื่องของ “มวลชน” โดยเฉพาะในเรื่องคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปล่อยให้ตำรวจใช้วิธีการของตำรวจในการจับกุมผู้คนในพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก โดยที่สาเหตุการตั้งข้อหา และพยานหลักฐานที่ไม่เคลียร์ ความสับสนของการไม่เปิดเผยความจริง จนทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีการ “จับแพะ” เพื่อปิดสำนวนคดี ทำให้ “มวลชน” ที่สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มไม่เชื่อมั่น และหันรีหันขวางเพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ฝ่ายใด
 
ที่เป็นข้อสังเกตคือ วันนี้มีกลุ่มของนักศึกษาในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องต่อการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น เช่น การก่อวินาศกรรมในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนักศึกษาได้ 20 คนก่อนที่จะปล่อยตัว โดยมีการเอาผิดต่อนักศึกษาที่มีหลักฐานได้จำนวนหนึ่ง เช่นเดียวกับการก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่อง 44 จุด ในเขตเทศบาลนครยะลา ผู้ต้องหาที่ตำรวจควบคุมตัวมาได้ในข้อหาการก่อเหตุร้ายก็มีนักศึกษาในพื้นที่รวมอยู่ด้วย 6 คน
 
แสดงให้เห็นว่า นักศึกษา และปัญญาชนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่ ยัง “คิดต่าง” จากนโยบายของรัฐ และยังมุ่งมั่นในการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธในการต่อต้านอำนาจรัฐ ตรงนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะตอบโจทย์อย่างไรว่าทำไมยิ่งนานวันของการดับไฟใต้ จำนวนปัญญาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของรัฐจึงยังมีอยู่
 
หากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่า วันนี้ปฏิบัติการของ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ที่ถูกชูให้เห็นว่า เป็นนโยบายที่จะสร้างความสงบให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ต่างๆ อย่างได้ผลนั้น วันนี้ความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ต่อแนวทางของ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ก็เริ่มลดลง จนสุดท้ายหากสถานการณ์ความรุนแรงยังเป็นอยู่เช่นนี้ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ก็จะเหมือนกับหลายๆ แนวทางที่เคยเกิดขึ้น และจบลงโดยที่สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่ได้จบตามไปด้วย
 
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มักจะใช้เดือน “รอมฎอน” ในการจัดทำโครงการลดความรุนแรง ลดความหวาดระแวง หรือโครงการอะไรต่อมิอะไร เพื่อที่จะใช้เดือนแห่งสัญลักษณ์ความดีงามแห่งศาสนากับการแก้ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งหากการสร้างความสงบ ความสันติให้เกิดขึ้น โดยไม่เอาคำว่า “รอมฎอน” เข้าไปยุ่งเกี่ยวก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีทีสุด
 
เพราะธรรมชาติของการก่อการร้าย และวิธีการของกลุ่มก่อการร้ายไม่ได้สนใจในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ หรือความดีงามของศาสนา แต่สนใจที่จะใช้ “ช่องวาง” และ “โอกาสที่เปิดให้ปฏิบัติการต่อเป้าหมายได้ก็พร้อมที่จะปฏิบัติการทันที
 
สุดท้ายเดือนรอมฎอนแห่งความดีงามของพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลามก็จะถูกนำมาแปดเปื้อนกับเสียงปืน เสียงระเบิด กลิ่นคาวเลือด ความสูญเสีย และความตายเหมือนกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา ที่หน่วยงานของรัฐไม่เคยทำได้จริงอย่างที่มีการ “โฆษณาชวนเชื่อ” เอาไว้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น