xs
xsm
sm
md
lg

ต้องทำให้เหตุปะทะ ณ “ทุ่งยางแดงโมเดล” กระจ่าง! อย่า “สุมไฟแค้น” เอาไปใช้ดับไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
มีเพื่อนคนหนึ่งมีความต้องการที่จะไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ จ.ยะลา ได้แวะมาเยี่ยมผู้เขียนที่สำนักงาน แล้วชวนไปดูสถานที่ตั้งโรงงาน ประโยคหนึ่งที่เพื่อนนักลงทุนถามคือ พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งหมายถึงที่ดินที่เขากำลังจะตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อเพื่อการสร้างโรงงานใน จ.ยะลา เป็นอย่างไร
 
ผู้เขียนก็ตอบไปว่า บนแผ่นดินของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีพื้นที่ไหนปลอดภัย เพราะแม้แต่โรงพัก โรงพยาบาล ค่ายทหาร จุดตรวจ หรือในตัวเมืองที่มีกำลังทหาร และตำรวจยั้วเยี้ยไปหมด ก็ยังมีการวางระเบิด และมีการฆ่ากันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
 
ล่าสุด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งข่าว “ลับที่สุด” แจ้งเตือนหน่วยงานความมั่นคง และส่วนราชการในพื้นที่ 4 จังหวัด อันหมายถึง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วน ให้ระวังป้องกันการก่อการร้ายตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ต่อเนื่องถึงเดือน เม.ย.นี้ และแม้แต่ศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นที่ “คุ้นเคย” กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ก็อยู่ในแผนของแนวร่วมขบวนการที่จะก่อวินาศกรรม จนต้องมีคำสั่งให้เข้มงวดกับการรักษาความปลอดภัยแบบที่สุด
 
ผู้เขียนบอกกับเพื่อนที่เป็นนักลงทุนว่า โรงงาน หรือกิจการของเขาจะอยู่รอดอย่างปลอดภัยหรือไม่นั้น อยู่ที่การบริหารจัดการเป็นปลัก กล่าวคือ อย่างการสร้างรั้วรอบขอบชิดนั้น เขาคิดจะสร้าง “รั้วคอนกรีต” เป็นกำแพง หรือจะสร้าง “รั้วคน” เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการก่อการร้าย
 
เช่นเดียวกับเหตุล่าสุดของความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ ม.6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่มีการปะทะกันระหว่างตำรวจ นปพ.และทหารพราน กับกลุ่มขบวนการก่อการร้าย (ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ข่าวในเบื้องต้น) จนมีผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย และผู้ถูกจับกุมมากเป็นกรณีพิเศษถึง 27 คน ซึ่งน่าจะเป็นการจับกุมผู้อยู่ในเหตุการณ์ของการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
 
มีคนให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มากมาย สืบเนื่องจากประเด็นที่ 1 พื้นที่เกิดเหตุเป็น อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี อันเป็นพื้นที่ที่ถูกปลุกปั้นให้เป็น “ทุ่งยางแดงโมเดล” ตามแผนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อเป็นอำเภอนำร่องในการดับไฟใต้
 
โดยมีการประโคมโหมโห่ตลอดระยะเวลาหลายเดือนมานี้ถึงผลสำเร็จของ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ที่ทำให้สถานการณ์การก่อการร้ายลดลง และมีการขยายโครงการในลักษณะเดียวกันไปยังพื้นที่หลายแห่ง เช่น ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส หรือแม้แต่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นต้น
 
ประเด็นที่ 2 ในบรรดาผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพในครั้งนี้ มีผู้ที่เป็น “เยาวชน” หรือเป็น “นักศึกษา” ของวิทยาลัยอิสลามยะลารวมอยู่ด้วย 2 คน ซึ่งขณะนี้นักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เป็นไปตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแถลงไว้ว่า ผู้เสียชีวิตเป็น “แนวร่วมของขบวนการก่อการร้าย” จริงหรือไม่
 
ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ข่าว กล่าวคือ ผู้ตายทั้ง 4 ราย เป็นแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายจริง และผู้ถูกจับกุมจำนวนมากก็คือ แนวร่วมขบวนการที่ไปรวมตัวกันเพื่อวางแผนก่อการร้ายจริง ต้องแสดงความชื่นชมตำรวจ และทหารที่มี “หูตาประเปรียว” มี “สายข่าว” ที่เกาะติดการเคลื่อนไหวของแนวร่วมในพื้นที่ จนสามารถทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวของแนวร่วมได้อย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จในการขจัด “เสี้ยนหนาม” ของแผ่นดิน
 
อันแสดงให้เห็นว่า “ทุ่งยางแดงโมเดล”  ได้ส่งผลให้มวลชนกลับไปเป็นอยู่กับฝ่ายรัฐแล้ว จนแนวร่วมไม่สามารถที่จะใช้พื้นที่ในการพบปะเพื่อประชุมวางแผนก่อการร้ายได้อีกต่อไป
 
นอกจากนี้แล้ว ถ้าผู้ตาย 2 ใน 4 ศพที่เป็นนักศึกษามีหลักฐานว่า เป็นแนวร่วมขบวนการจริง นั่นแสดงให้เห็นว่า “สถาบันการศึกษา” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นสถานที่ให้แนวร่วมแฝงตัวอยู่ อันเป็นไปตามที่การข่าวของหน่วยงานความมั่นคงมีรายงาน และมีการสั่งให้จับตาใกล้ชิดแบบเฝ้าระวัง “กลุ่มปัญญาชน” ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ กลุ่มผู้ยังมีธงในการก่อการร้ายเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ
 
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าอาวุธปืน “อาก้า” และ “ระเบิดขว้าง” เป็นของกลุ่มก่อการร้ายจริง ย่อมแสดงให้เห็นว่า แนวร่วมในพื้นที่ยังมี “เขี้ยวเล็บ” ในการที่จะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีศักยภาพทำร้ายประชาชนที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอที่ยังจะต้องหาทางในการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
 
แต่ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่บางกลุ่ม รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนในเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ก็จะพบว่า มีความไม่เชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 ศพ โดยเฉพาะศพที่เป็นนักศึกษานั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นแนวร่วมของขบวนการก่อการร้าย ในทำนองเดียวกันก็ไม่เชื่อว่าผู้ที่ถูกจับกุมจำนวนมากเป็นแนวร่วมขบวนการที่นัดกันไปประชุมวางแผนก่อการร้าย
 
มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีดังกล่าว โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ใช้เวลาปะทะกันกว่า 1 ชั่วโมง และมีการปะทะกันถึง 2 ระลอก โดยฝ่ายคนร้ายที่มีทั้ง “ปืนอาก้า” และ “ระเบิดมือ” แต่ทำไมไม่ถูกใช้ และไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่แค่แมวข่วนสักคนเดียว
 
อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตในลักษณะที่ไม่เชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการพบปะเพื่อประชุมของคนจำนวนมากกว่า 30 คน เพื่อวางแผนในการก่อการร้าย เพราะโดยปกติการพบปะเพื่อวางแผนก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ไม่เคยพบว่ามีลักษณะแบบที่เกิดขึ้นมาก่อนเลย
 
ในขณะที่มีเสียงกระซิบจากคนในหมู่บ้านว่า ในวันเวลาที่เกิดเหตุมีกลุ่มคน จำนวน 2-3 พวกอยู่ในที่เกิดเหตุ พวกที่ 1 คือ พวกนัดกันมาเพื่อเสพน้ำกระท่อม พวกที่ 2 คือ กลุ่มนักเคลียร์หนี้สินเรื่องการยึดรถยนต์ และพวกที่ 3 อาจจะมีแนวร่วมที่มีหมายจับ พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ รวมอยู่ด้วย
 
ทว่า โดยธรรมชาติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกทำให้เป็นเรื่อง “พิเศษ” อยู่แล้วคือ ผู้ที่เห็นต่างย่อมที่จะหยิบเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่คลุมเครือไปใช้โจมตี และกล่าวร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประโยชน์ของการ “โฆษณาชวนเชื่อ” มาโดยตลอด
 
เพราะหลายครั้งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการ “หมกเม็ด” มีการแถลงข่าวด้วยการ “มโน” และมีการ “ป้ายสี” ให้แก่ผู้เสียชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดจากกรณีของการ “พลาดพลั้ง” ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีของ “เหตุการณ์ปุโละปูโย” อันร่ำลือ หรืออีกหลายๆ กรณีที่ผู้บริสุทธิ์กลายเป็นเหยื่อเพราะความ “หลงผิด” ความ “ประมาท” และการ “พลั้งมือพลั้งตีน” ของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
 
ดังนี้แล้ว เหตุการณ์ที่บ้านโต๊ะจูด ม.6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี วันนี้จึงยังมีความ “คลุมเครือ” จาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงรายละเอียดของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นแนวร่วมขบวนการจริงหรือไม่ รวมทั้งผู้ถูกจับกุมเกือบ 30 คน ก็เป็นแนวร่วมที่เข้าประชุมเพื่อวางแผนในการก่อเหตุร้ายอย่างที่เป็นข่าวในเบื้องต้นหรือเปล่า
 
ดังนั้น กอ.รมนภาค 4 ส่วนหน้า ต้องหา “หลักฐาน” และหา “ข้อเท็จจริง” เพื่อแถลงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็ว อย่าได้ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปแบบ “บงอับบงรา” หรืออยู่ในลักษณะของการ “คลุมเครือ” ต่อไป เพราะการปล่อยให้คนในพื้นที่เข้าใจผิด และปล่อยให้เครือข่ายของผู้ที่เห็นต่างนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปขยายผลเพื่อโจมตีนโยบายของรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ
 
เพราะนั่นเป็นการทำให้สถานการณ์ที่ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าจะดีขึ้น กลับต้องหวนไปสู่ “วังวน” ของความ “เลวร้าย” อีกครั้งหนึ่ง
 
ณ เวลานี้ผู้คนยังมีความเชื่อมั่นว่า  พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. และ พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการเกต ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนคือ “ผู้นำ” ที่มีความ “ตั้งใจ” ในการดับไฟใต้ และเป็นผู้ที่พร้อมที่จะชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ความ “ยุติธรรม” ต่อผู้เสียหาย และให้ “ความจริง” แก่ประชาชนที่ยังคลุมเครือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ณ วันนี้แม้ว่าเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ดัง เพราะมี “ปัจจัยอื่น” เข้าไปแทรกซ้อน จนทำให้ภาคประชาชนไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นเหมือนในอดีต ซึ่งอาจจะทำให้ภาครัฐเข้าใจไปเองว่า ประชาชนในพื้นที่ “ยอมรับ” ต่อสภาพ และสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการ “คิดเอง” และ “คิดผิด” ก็เป็นไปได้
 
เนื่องเพราะยิ่งประชาชนไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกเท่าไหร่ อาจจะยิ่งทำให้ “ไฟแค้น” ในใจคุกรุ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเติมเชื้อไฟแห่งความคับแค้นมากเท่าไหร่ ยิ่งจะเป็นผลร้ายต่อการ “ดับไฟใต้” มากยิ่งขึ้น
 
และนี่คือสิ่งที่ทุกหน่วยงานของรัฐต้อง “สำเหนียก” ให้มากที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น