คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
และแล้วคดีคาร์บอมบ์ลานจอดรถศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อ.เกาะสมุย จ.สุราฎร์ธานี ชุดสืบสวนสอบสวนก็สามารถขอหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากศาลจังหวัดยะลาจนถึง ณ วันนี้ได้แล้ว 10 หมาย และสามารถจับกุม หรือควบคุมตัวเพื่อทำการซักถาม หรือที่แท้ก็คือเพื่อสอบสวน โดยนำไปไว้ที่ศูนย์ซักถาม กรมทหารพรานที่ 41 และที่ศูนย์ซักถาม ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจำนวน 6 คน ขณะที่ยังหลบหนีหมายจับอยู่อีก 4 คน
โดยทั้ง 10 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนในการก่อคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุยมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์จำนวน 4 คัน ที่ใช้ในการทำความผิด กลุ่มที่ 2 เป็นคนที่เคยมีประวัติก่อวินาศกรรม และฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา
ในส่วนรถยนต์ 4 คันที่ใช้ในการก่อเหตุนั้น ถูกนำไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์ 1 คัน ที่เหลืออีก 3 คัน คือ รถเก๋งฮอนด้าซีวิค พบว่า คนร้ายจอดทิ้งไว้ที่ริมถนน อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เพราะน้ำมันหมด ส่วนอีก 2 คัน คือ มิตชูมิชิ ไทรทัน และอีซูซุ ดีแมคซ์ เวลานี้ยังล่องหน และไร้วี่แววว่าจะติดตามมาได้ เช่นเดียวกับรถยนต์คันอื่นๆ อีก 12 คัน ที่ถูกโจรกรรมไปเพื่อประกอบคาร์บอมบ์ โดยถือเป็นวัตถุอันตรายที่พร้อมจะคร่าชีวิตของเจ้าหน้าที่ และประชาชนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ได้แต่หวังว่า รถยนต์โจรกรรมที่ยังหาไม่พบเหล่านี้ คงจะไม่ถูก “ย้อนรอย” จากกลุ่มโจรนำไปก่อเหตุคาร์บอมบ์ในพื้นที่เกาะแก่ง และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ
ดังนั้น บทสรุปของคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุยคือ ไม่สามารถหาตัว “ผู้บงการ” หรือ “ผู้ว่าจ้าง” มาลงโทษได้ เพราะผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ยังไม่มีใครยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุ และไม่มีใครเปิดปากถึงอยู่เบื้องหลัง หรือคนว่าจ้าง
สุดท้ายคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุยจึงไม่แตกต่างกับคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้ง ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ที่จบลงด้วยความมืดมน และจับผู้บงการไม่ได้
และท้ายที่สุดสิ่งที่จะกลายเป็นประเด็น หรือสร้างปมปัญหาที่คาใจของทั้งครอบครัวผู้ถูกจับกุม รวมถึงผู้คนในสังคมก็คือ ผู้ที่ถูกจับได้นั้นเป็น “คน” หรือ “แพะ”
เพราะถ้าเป็นคน และเป็นคนที่ทำผิดจริงก็คงจะเป็นเรื่องปกติ คนทำผิดสมควรต้องรับโทษ แต่ถ้าผู้ที่ถูกจับกุมเป็นเพียงแพะแล้ว สิ่งที่ติดตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ “เงื่อนไข” ของความรุนแรง อันนำไปสู่ความคับแค้นของผู้ถูกกระทำ
เท่ากับว่าได้มีการ “จุดไฟใต้” เพิ่มขึ้นในใจของผู้คนอีกหลายกอง ซึ่งจะกลายเป็นภาระของคนรุ่นต่อไปในการดับไฟใต้
ในขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น ล่าสุด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สรุปตัวเลขให้เห็นชัดๆ ว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้น มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเพียง 305 เหตุการณ์ ลดลง 61.63% มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ 339 ราย ลดลง 47.44% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นโยบายที่ใช้ในการดับไฟใต้อย่างเช่น ทุ่งยางแดงโมเดล และการจัดตั้ง ศปก.อำเภอ เดินไปถูกต้องแล้ว
โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญผู้บริสุทธิ์ 4 ศพที่ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เกิดขึ้น สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่น่าจะดีกว่านี้ เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มก่อการร้ายก็จะไม่มีเงื่อนไขไปใช้อ้างเพื่อก่อเหตุร้าย
สำหรับกรณีวิสามัญ 4 ศพที่ อ.ทุ่งยางแดง มีเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่รู้คือ กลุ่มก่อการร้ายมีการ “วางแผน” ให้เกิดเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อต้องการทำลาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” ให้หมดความชอบธรรม โดยยืนยันได้จากก่อนที่จะเกิดเหตุมีความพยายามล่อเจ้าหน้าที่ให้ติดกับ รวมถึงใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
นั่นแสดงว่า “ทุ่งยางแดงโมเดล” ที่ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำมาใช้ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ขบวนการอย่างมาก
แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ถูกล่อไปติดกับดักที่แนวร่วมขบวนการสร้างวางไว้ ด้วยการใช้งานการข่าวในการหลอกล่อตำรวจ และทหารเข้าพิสูจน์ทราบถึงการมารวมตัวของแนวร่วมชุดปฏิบัติการ ซึ่งด้วยความไม่รอบคอบ ขาดการวางแผนที่ดี ขาดการตรวจสอบข่าวที่ถูกต้อง ผู้บริสุทธิ์ 4 ศพ จึงกลายเป็นเหยื่อ
อีกทั้งด้วยความอ่อนหัด และคิดเพียงเอาตัวรอดของเจ้าหน้าที่ และผู้นำหน่วย จึงเกิดการ “จัดฉาก” ให้คนบริสุทธิ์กลายเป็นผู้ร้าย จนกลายเป็นเงื่อนไข “สงครามประชาชน” ให้ขบวนการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างมวลชน และสร้างสถานการณ์ความรุนแรง
หลังคำขอโทษของแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผบ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะสามารถทำให้ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น และอาจจะทำให้สถานการณ์การก่อการร้ายไม่ลุกลามในใจของผู้คน เพราะเห็นถึงความจริงใจของแม่ทัพ ที่เมื่อความจริงประจักษ์ชัด ก็ไม่ลังเลในการแสดงความรับผิดชอบในฐานะของผู้นำหน่วย
นี่คือคุณสมบัติของผู้นำหน่วยที่ต้องกล้าที่จะรับผิดชอบ กล้าที่จะรับความจริง กล้าที่จะกล่าวคำว่า “ขอโทษ” และ “เสียใจ” เพราะคำพูด และการแสดงออกในการยอบรับความผิดพลาด เท่ากับเป็นการราฟืนออกจากเตา อันเป็นไปเพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์
นอกจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังความผิดพลาด 4 ศพ ที่ทุ่งยางแดง ยังติดตามมาด้วยมาตรการความเข้มข้นในการยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม นั่นคือต้อง “จับเป็น” ต่อเป้าหมาย โดยเฉพาะเป้าหมายที่อยู่ในเคหสถานห้ามใช้อาวุธเข้าปฏิบัติการ นั่นหมายถึงต้องปิดล้อมจนถึงที่สุด และผู้ที่จะออกคำสั่งให้เข้าปฏิบัติการได้มีเพียง 2 คน คือ ตัวของแม่ทัพเอง กับ พล.ต.มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เท่านั้น
ทั้งนี้ เป็นการมุ่งหวังของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ต้องการให้เป็น 4 ศพสุดท้ายที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ และสิ่งที่แม่ทัพได้ทำให้ประจักษ์ต่อไปคือ การ “เอาผิด” ต่อผู้ที่ทำความผิด ทั้งระดับกำลังพล และผู้บังคับบัญชา
แม้ว่า พล.ท.ปราการ จะได้ทำในสิ่งที่แม่ทัพหลายท่านที่ผ่านมาไม่เคยทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกรณีทุ่งยางแดงจะไม่เกิด เพราะกำลังพลของกองทัพหลายหมื่นคนที่อยู่ในชายแดนใต้นั้น อาจจะมีผู้ที่ประมาทเลินเล่อ และมีอคติต่อผู้คนรวมอยู่ด้วย อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าอาจจะทำให้ต้องตัดสินใจที่สวนทางต่อนโยบายหรือคำสั่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกไว้ ณ ที่นี้คือ ตัวเลขการก่อเหตุที่ลดลงก็ดี การลดลงของคนตาย และผู้เจ็บก็ดี นั่นยังไม่ใช่ตัวบ่งชี้ หรือเป็นดัชนีชี้วัดว่า เป็นเพราะ “นโยบาย” ที่ใช้ในการดับไฟใต้เดินไปถูกทางแล้ว
เพราะอาจจะเป็นความฉลาดของขบวนการที่ลดการก่อเหตุย่อยๆ ที่ต้องเสี่ยง และใช้แนวร่วมสิ้นเปลือง โดยหันไปก่อเหตุใหญ่ๆ ซึ่งแม้ไม่ถี่ แต่ส่งผลสะเทือนได้ผล อย่างเช่น เหตุระเบิด 4 จุด ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี หรือแม้แต่กรณีคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย ซึ่งส่งผลสะเทือนที่มากกว่าการก่อกวนถี่ๆ และเล็กๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้น
เนื่องเพราะวันนี้กลุ่มก่อการร้ายได้สรุปบทเรียนแล้วว่า การก่อเหตุในชายแดนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ไข่แดงอย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนทั้งต่อภาครัฐ และภาคประชาชนอีกต่อไป
เนื่องเพราะ 11 ปี ที่ไฟใต้ระลอกใหม่คุโชน กลุ่มก่อการร้ายเห็นแล้วว่าเกิดการดื้อยาทั้งกับประชาชน และเจ้าหน้าที่ ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะมีเปรียบทั้งในด้านการทหาร และการเมืองก็คือ การ “ขยายพื้นที่” ก่อวินาศกรรมออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นี่ต่างหากที่เป็น “สัญญาณอันตราย” ที่น่ากลัว และต้องมีมาตรการรับมือกันอย่างจริงจัง ก่อนที่ภาคใต้ทั้งภาคจะกลายเป็นดินแดนที่ไม่มีความปลอดภัยเอาเสียเลย