ตรัง - แกนนำตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อขอชะลอการดำเนินการตัดโค่นรื้อถอนยางพาราในเขตเทือกเขาบรรทัดออกไปก่อน หวั่นพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินทำกินดั้งเดิมของชาวบ้าน
วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ ปะริสุทโท เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนป่าไม้ และอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งนายอำเภอ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการตัดโค่นยางพาราในพื้นที่ จ.ตรัง ตามนโยบายแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ของรัฐบาล ซึ่งประกาศดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. พร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ จ.ตรัง ได้กำหนดการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้เชิงพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่บุกรุกที่ผลคดีถึงที่สุดแล้ว พื้นที่บุกรุกที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี พื้นที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ หรือบุกรุกใหม่ และพื้นที่ไม่ถูกบุกรุก โดยในที่ประชุมมีมติดำเนินการในพื้นที่บุกรุกที่ผลคดีถึงที่สุดแล้ว ในสังกัดกรมป่าไม้ เนื้อที่ 23,900 ไร่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเนื้อที่ 13,249 ไร่เศษ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 37,149 ไร่เศษ
สำหรับพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัด แบ่งเป็น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 เช่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อ.วังวิเศษ จำนวน 5 แปลง เนื้อที่กว่า 50 ไร่ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง จำนวน 9 แปลง เนื้อที่กว่า 55 ไร่ และในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อ.กันตัง-อ.สิเกา จำนวน 15 แปลง เนื้อที่กว่า 232 ไร่
ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อ.นาโยง อ.เมืองตรัง อ.ห้วยยอด และ อ.รัษฎา จำนวน 114 แปลง เนื้อที่กว่า 548 ไร่ และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว และ อ.ปะเหลียน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และสังกัดหน่วยจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 (นครศรีธรรมราช) เช่น ในหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตง3 (วังวิเศษ) อ.วังวิเศษ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่กว่า 62 ไร่ รวมพื้นที่ป่าจะเข้ารื้อถอน จำนวน 144 แปลง เนื้อที่ 948 ไร่เศษ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกกว่า 36,000 ไร่นั้น จะต้องดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการประชุมได้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดประมาณ 20 คน นำโดย นายอานนท์ สีเพ็ญ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และนายแสวง ขุนอาจ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบล จ.ตรัง เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อขอให้ จ.ตรัง ชะลอการดำเนินการตัดโค่นรื้อถอนยางพาราในแนวเขตเทือกเขาบรรทัดออกไปก่อน
โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นที่ดินทำกินดั้งเดิมของราษฎร และเป็นเกษตรกรรายย่อย ไม่ใช่ของนายทุน หรือนอมินีของนายทุน จึงขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการ เพราะเกรงจะกระทบต่อเกษตรกรที่ยากจน ซึ่งขัดต่อนโยบายปรองดองคืนความสุขให้แก่ประชาชน พร้อมยื่นข้อเสนอ จำนวน 3 ข้อ คือ 1.ให้มีการชะลอการดำเนินการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดออกไปก่อน เพราะเป็นของเกษตรกรรายย่อย 2.ให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 4 ฝ่าย คือ ท้องถิ่น ท้องที่ เกษตรกรที่ถือครองทำกิน และสภาองค์กรชุมชุมตำบล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงทุกพื้นที่ที่มีการจัดทำข้อมูลบนภาพถ่ายทางอากาศ 1/4000 แล้วนั้นร่วมกัน 3.พื้นที่ตำบลนำร่องการจัดทำข้อมูล จำนวน 12,470 ไร่ มีจำนวน 32 ตำบล ครอบคลุมสมาชิก 32,000 คน โดยมีการจัดทำข้อมูลการถือครองรายแปลงร่วมกันแล้วระหว่างท้องถิ่น ท้องที่ สภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ให้มีการชะลอเพื่อปรึกษาหารือ และหาทางออกร่วมกันเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ส่ง นายนิพันธ์ ศิริธร ปลัดจังหวัดตรัง ออกมารับหนังสือแทน แต่ทางตัวแทนเครือข่ายไม่ยินยอม จึงต้องรอนานกว่า 1 ชั่วโมง ต่อมา หลังเลิกประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ออกมารับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมยืนยันว่า ในเบื้องต้นทางจังหวัดจะดำเนินการรื้อถอนเฉพาะแปลงที่ผลคดีสิ้นสุดแล้ว โดยจะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ร่วมกันตรวจสอบรายแปลงทุกแปลงว่าเป็นของคนจนหรือไม่ จะไม่ให้กระทบคนจนอย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้
ด้านชาวบ้านซึ่งได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือในครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำการรื้อถอนในที่ดินตนเอง ซึ่งอยู่อาศัยทำกินมาหลายชั่วอายุคน และเป็นคนจน ไม่ใช่นายทุน จึงต้องออกมายื่นหนังสือคัดค้านดังกล่าว ขอให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบรายแปลง เพื่อพิสูจน์สิทธิ เพราะหากเจ้าหน้าที่ทำการตัดโค่นที่ดินที่ตนเองถือครองทำกินมาก่อน เพราะตนเองมีอาชีพทำสวนยางพาราเท่านั้น ไม่ได้มีอาชีพอื่น หากพื้นที่ถูกตัดโค่นจะไม่มีอะไรทำกินอีกเลย