xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้คำสั่ง คสช.แก้รุกป่าไม่เป็นผล หวั่นเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ แผ่นดินลุกเป็นไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
สัมมนาจัดการทรัพยากรธรรมชาติ “หมอนิรันดร์” ชี้ความเหลื่อมล้ำปัญหาอันดับหนึ่ง รับคำสั่ง คสช.หวังจัดการนายทุนฮุบที่ดิน แต่กระทบผู้ยากไร้ ประชาชนร้องเรียนเป็นประวัติการณ์ สื่อให้เห็นว่าไม่สัมฤทธิผล เตือนเปิดเศรษฐกิจพิเศษ ทำแผ่นดินลุกเป็นไฟ ต่างชาติแย่งที่อยู่

วันนี้ (21 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ได้จัดสัมมนา “ระดมความเห็นและข้อเสนอ ต่อแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคประชาชน” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า กล่าวถึงปัญหาและผลกระทบจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64, 66/2557 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้สังคมไทยและสังคมโลกรับรู้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำคือปัญหาอันดับหนึ่งเพราะรัฐบาลที่ผ่านมาแก้ไขไม่ได้ จากคำสั่ง คสช.ดังกล่าวเรามีความหวังว่าจะจัดการกับนายทุน และนักการเมือง ที่รุกล้ำที่ดินทำกิน และต้องทำให้ชัดเจนว่าจะแปลงสิทธิของผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินได้อย่างไร แต่คำสั่งนั้นยังไม่สามารถทำให้ผู้ที่ยากไร้ยังไม่มีที่ดินทำกิน และยังถูกบุกรุกขับไล่ โดยจากคำร้องที่ของประชาชนที่มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 44 คำร้อง กว่า 20 จังหวัด แค่ระยะเวลาเพียง 6 เดือน ทำให้เห็นว่านโยบายจัดสรรที่ดินของ คสช.ให้ผู้ยากไร้ไม่สัมฤทธิผล และกลายเป็นผู้ยากไร้ถูกไล่ที่ดินทำกิน

นพ.นิรันดร์กล่าวอีกว่า สำหรับคำร้องต่างๆ กสม.มีหน้าที่ตรวจสอบ พบว่าปัญหานั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 2 ล้านและอีกกว่า 7 แสนคนไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่มหาเศรษฐีมีเอกสารสิทธิแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน เมื่อเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ เป็นที่อยู่ของชาวต่างชาติและนายทุนข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม หลังจากการสัมมนา กสม.จะรวบรวมความคิดเห็นและเตรียมเสนอแผนแม่บทฯ ต่อ คสช.ต่อไป

ขณะที่ น.ส.พรพนา ก๊วยเจริญ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า กล่าวถึง “ปัญหาและผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64, 66/2557 และแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ณ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” ว่า สำหรับ 44 คำร้องนั้น 98% เป็นที่ดินของรัฐ ทำให้เห็นว่าที่ดินของรัฐทุกประเภททั้ง เขตอุทยาน ป่าอนุรักษ์ ที่สาธารณประโยชน์ เป็นข้อพิพาทอย่างกว้างขวางโดยลักษณะผลกระทบ เช่น ทำการยึดที่ดิน ทำลายพืชผลทางการเกษตร ขุ่มขู่ บังคับ หรือจับกุมดำเนินคดี เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น