xs
xsm
sm
md
lg

ซัดนโยบายคสช.จัดที่ดินล้มเหลว คนจนถูกขับไล่ นายทุนกว้านฮุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้จัดสัมมนา "ระดมความเห็นและข้อเสนอต่อแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคประชาชน" โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า กล่าวถึงปัญหา และผลกระทบจาก คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64,66 /2557 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้สังคมไทย และสังคมโลกรับรู้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือปัญหาอันดับหนึ่ง เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาแก้ไขไม่ได้ ซึ่งจากคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เรามีความหวังว่าจะจัดการกับนายทุนและนักการเมือง ที่รุกล้ำที่ดินทำกิน และต้องทำให้ชัดเจนว่า จะแปลงสิทธิของผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินได้อย่างไร แต่คำสั่งนั้นยังไม่สามารถทำให้ผู้ที่ยากไร้ ยังไม่มีที่ดินทำกิน และยังถูกบุกรุกขับไล่ โดยจากคำร้องของประชาชนที่มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 44 คำร้อง กว่า 20 จังหวัด แค่ระยะเวลาเพียง 6 เดือน ทำให้เห็นว่า นโยบายจัดสรรที่ดินของ คสช. ให้แก่ผู้ยากไร้ ไม่สัมฤทธิ์ผล และกลายเป็นว่า ผู้ยากไร้ถูกไล่ที่ดินทำกิน
นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า สำหรับคำร้องต่างๆ กสม. มีหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งพบว่าปัญหานั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 2 ล้านคน และอีกกว่า 7 แสนคน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่มหาเศรษฐีมีเอกสารสิทธิ์ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ขณะเดียวกันเมื่อเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ เป็นที่อยู่ของชาวต่างชาติ และนายทุนข้ามชาติ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการสัมมนา ทางกสม.จะรวบรวมความคิดเห็น และเตรียมเสนอแผนแม่บทฯ ต่อ คสช. ต่อไป
ขณะที่นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า กล่าวถึง “ปัญหาและผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64,66 /2557 และแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ณ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน”ว่า สำหรับ 44 คำร้องนั้น 98% เป็นที่ดินของรัฐ ทำให้เห็นว่า ที่ดินของรัฐทุกประเภท ทั้ง เขตอุทยาน ป่าอนุรักษ์ ที่สาธารณประโยชน์ เป็นข้อพิพาทอย่างกว้างขวาง โดยลักษณะผลกระทบ เช่น ทำการยึดที่ดิน ทำลายพืชผลทางการเกษตร ข่มขู่ บังคับ หรือจับกุมดำเนินคดี เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น