xs
xsm
sm
md
lg

การท่าเรือจับมือเอกชนเสวนาสร้างความเชื่อมั่นระบบขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือระนอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระนอง - การท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) จัดเสวนา สร้างความเชื่อมั่นขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางท่าเรือระนองสู่ AEC- BIMSTEC

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่โรงแรมทินิดี อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วย เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายอดิสรณ์ อโนทัยสินทวี ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ นายกิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และทูตพาณิชย์ประจำประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ลาว องค์กรการค้าญี่ปุ่น สภาหอการค้าไทย-บังกลาเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมเสวนาเพื่อส่งเสริมการใช้บริการเส้นทางการค้าระหว่างเท่าเรือระนอง-ท่าเรือ AIPT 1 (Ahlone International Port Terminal 1) สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการท่าเรือให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการภาคใต้ตอนกลาง รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจด้านการขนส่ง การค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน และ BIMSTEC

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า “ท่าเรือระนอง” ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง เป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทางทะเลฝั่งอันดามันของไทย และมีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือตู้สินค้าขนาดไม่เกิน 12,000 เดดเวทตันได้ ซึ่งจะกลายเป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยเป็นฐานการขนส่งหลัก และกระจายตู้สินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันผ่านท่าเรือระนอง ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเปิดบริการเส้นทางการเดินเรือระหว่างท่าเรือระนอง กับท่าเรือปีนัง และเส้นทางการเดินเรือจากท่าเรือระนอง เชื่อมโยงกับท่าเรือพม่า และกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับอีก 6 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย สหภาพพม่า เนปาล และศรีลังกา

เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เศรษฐกิจสหภาพพม่ากำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสทางการค้าสูงมาก จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ เพราะจะช่วยร่นระยะเวลา และระยะทางในการเดินเรือสินค้าไปยังสหภาพพม่า และประเทศในแถบฝั่งอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า โดยเหลือเพียง 4-7 วันเท่านั้น เมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบันที่ต้องผ่านท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนจะอ้อมผ่านสิงคโปร์ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน อีกทั้งยังมีการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานต่างๆ ให้คล่องตัว รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้นด้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายเส้นทางให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสู่แอฟริกาใต้ได้ด้วย

สำหรับจุดแข็งสำคัญสำหรับท่าเรือระนองนั้น นอกจากจะตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจที่จะช่วยย่นทั้งระยะเวลาการขนส่ง และระยะทาง ค่าธรรมเนียมที่ไม่สูง และการมีคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปแล้วนั้น ทำให้ท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันของไทย และประตูเศรษฐกิจของภาคใต้เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เรามีโอกาสทางการค้าสูงมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าอีกด้วย

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น