คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
เหตุผลหนึ่งของความพยายามที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ทั้งก่อนหน้าและในเวลานี้ที่มีองค์รัฏฐาธิปัตย์เป็นคณะทหาร ข้อกล่าวหาที่ทุกฝ่ายซึ่งต้องการปฏิรูปตำรวจคือ “องค์กร” และ “ตัวตน” ของตำรวจตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง และตำรวจตกอยู่ในวังวนของผลประโยชน์ เป็นผู้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากธุรกิจสีเทาและสิ่งผิดกฎหมายทั้งปวง
ซึ่งก็มีส่วนที่เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหาจากผู้ที่มุ่งมั่นที่จะต้องปฏิรูปตำรวจให้ได้ แม้ว่าวันนี้แนวทางของการปฏิรูปตำรวจจะ “บิดเบี้ยว” เพราะรูปแบบของการปฏิรูปทำท่าว่าจะไม่ได้ปฏิรูปเพื่อให้ประโยชน์เป็นของประชาชน แต่กำลังจะกลายเป็นว่าประชาชนจะได้หน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเข้ามาแทนที่ตำรวจ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานใหม่ที่เข้ามาจะเป็น “เหลือบ” ตัวใหม่ที่เป็น “เหลือบผอม” แทนเหล่า “เหลือบอ้วน” ที่มีอยู่แล้วหรือไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่ตำรวจปฏิเสธไม่ได้คือ ข้อกล่าวหาจากผู้ต้องการปฏิรูปนั่นคือ ตำรวจเป็นเครื่องมือของการเมือง เป็นเครื่องมือของผู้มีอิทธิพล และเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหา ผลประโยชน์จากสิ่งผิดกฎหมาย โดยตำรวจส่วนหนึ่งใช้หน้าที่และอำนาจ รวมทั้ง ช่องว่างของกฎหมายในการแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งจากความ “หายนะของประเทศชาติ” และความ “อยุติธรรมของประชาชน”
ที่เห็นชัดเจนเรื่องแรกคือ เรื่องการค้ามนุษย์ทั้งโรฮีนจาและอื่นๆ ในภาคใต้ ซึ่งสาวไปสาวมามีตำรวจตั้งแต่ “จสต.” จนถึง “นายพล” อยู่ในวังวนของการรับและเรียกผลประโยชน์ จนขณะนี้มีตำรวจจาก “ผู้พิทักษ์สันติราฏร์” และ “ผู้รักษากฎหมาย” กลายเป็น “ผู้ต้องหา” และ “ผู้ร้าย” ไปแล้วจำนวนหนึ่ง และที่หลักฐานเอื้อมไปไม่ถึง แต่พัวพันกับส่วยค้ามนุษย์ที่ถูกโยกย้ายกระเด็นกระดอนไปแล้วกว่า 100 คน
นี่แค่เรื่องการค้าโรฮีนจาเพียงเรื่องเดียวยังขนาดนี้ ถ้ามีการเปิดโปงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจเถื่อนๆ ในภาคใต้หรือในประเทศจะมีตำรวจติดร่างแหมากขนาดไหน ซึ่งอาจจะขนาดต้องยุบสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เป็นได้?!
อีกเรื่องที่อยากจะยกเป็นตัวอย่างการใช้อำนาจหน้าที่และช่องว่างของกฎหมายในการแสวงหาผลประโยชน์ของตำรวจที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
นั่นคือเรื่องของ “ตำรวจชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อน” หรือที่เรียกกันอย่างย่อๆ ว่า “ตำรวจ ปนม.” ที่เป็นชุดของ “ส่วนกลาง” ซึ่งถ้าดูตามภารกิจของชื่อแล้วก็คือ การตรวจจับผู้ค้าผู้ขนผู้ขายน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นธุรกิจเถื่อนที่ใหญ่โตและมากมายในจังหวัดชายแดนและจังหวัดที่ติดกับชายฝั่งทะเล
แต่อาจจะเป็นเพราะหลายวันที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.สงขลามีขบวนของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เข้ามากวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจา เช่น พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.อยู่ในพื้นที่ ทำให้ “ศุลกากร” ที่เป็นนกรู้สั่งห้ามขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนหยุดการค้า การขนน้ำมันข้ามประเทศชั่วคราว
ทำให้ตำรวจ ปนม.ชุดนี้ขาดรายได้ หรือเป็นเพราะส่วยที่ต้องส่งให้กับ “นาย” ไม่เข้าเป้า ทำให้ ปนม.ชุดนี้เปลี่ยนเป้าหมายจากการตรวจจับน้ำมันเถื่อน หันไปจับรถบรรทุกน้ำมันถูกต้องที่บรรทุกออกจากคลังน้ำมันที่ อ.สิงหนครแทน
โดยตำรวจ ปนม.จากส่วนกลางชุดนี้ที่มีนายตำรวจยศ “ร.ต.ท.” เป็นหัวหน้าชุด และมี “นายดาบ” ที่ชอบอ้างว่าเป็นผู้หมวดบ้าง ผู้กองบ้างเป็นผู้ปฏิบัติ อาศัยข้อกฎหมายที่ไม่เคยมีใครใช้ในการจับกุมมาทำการตรวจสอบเอกสารและจับกุมรถบรรทุกน้ำมันที่หน้าคลังน้ำมัน และหน้า สภ.สิงหนคร จนเป็นเหตุให้ ผู้ประกอบการต้องเรียกร้องความถูกต้อง ด้วยการรวมตัวกันหน้าคลังน้ำมันเพื่อขอความชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ในเรื่องขอข้อกฎหมายที่ ตำรวจ ปนม.ชุดนี้นำมาเป็นข้ออ้างและข่มขู่คนขับรถ รวมถึงผู้ประกอบการว่าจะจับกุมในข้อหาต่างๆ อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
เช่นผู้ประกอบการที่ซื้อน้ำมันจากจ๊อปเบอร์ หรือตัวแทนจำหน่ายของเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ และ ปตท. ซึ่งตั้งสำนักงานในต่างจังหวัดและใน กทม. เมื่อรับน้ำมันจากคลังน้ำมันที่ อ.สิงหนครแล้วต้องขับรถไปยังที่ตั้งของบริษัทนั้นๆ ก่อนที่จะนำน้ำมันไปส่งขายให้กับลูกค้า
แค่กฎหมายข้อนี้ข้อเดียวก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้ในทางการทำธุรกิจ รวมทั้งการข่มขู่ว่ารถบรรทุกน้ำมันป้ายดำที่เป็นรถของผู้ประกอบการมีการอนุญาตเป็นมาตรา 12 ทวิ ซึ่งออกโดยกรมพลังงาน และมีอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลที่ออกโดยสำงานขนส่งจังหวัด ก็ไม่สามารถที่จะบรรทุกน้ำมันจากคลังน้ำมันได้
และที่สุดแสบสันต์มันยกร่องคือ การสั่งห้ามมิให้ใช้มือเขียนเอกสารในใบกำกับการขนส่งที่ต้องใช้ในการขนส่งน้ำมัน ซึ่งถือปฏิบัติกันมานับตั้งแต่มีคลังน้ำมันเกิดขึ้นจนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 40 ปี จึงมีคำถามว่าถ้าไม่ให้ใช้มือเขียนเอกสารและจะให้ใช้อะไรในการกรอกข้อความ
แค่การยกอ้างข้อกฎหมาย 3 ข้อนี้มาเป็นข้ออ้างและข่มขู่ว่าจะใช้กฎหมายเหล่านี้เพื่อจับกุมผู้ประกอบการ ก็มองเห็นได้ชัดเจนว่า ปนม.ชุดนี้มีความประสงค์ที่ “แอบแฝง” พยายามหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อกล่าวหา ผู้ที่ทำธุรกิจโดยถูกต้อง เพื่อให้เกิดความ “รำคาญ” ในการที่จะถูกตรวจสอบและถูกแจ้งข้อหาต่างๆ ด้วยการ ลงบันทึกประจำวันจนเป็นคดีความ ซึ่งผิดหรือถูกต้องไปพิสูจน์กันที่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะไม่ผิด แต่ผู้ประกอบการที่ทำมาหากินโดยสุจริตต้องเสียเงินและเสียเวลา
ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มักจะ “จ่ายเงิน” ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการเสียเวลาและหาเอกสารมาอ้างอิง จนทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ย่ามใจใช้วิธี “ตีกิน” ด้วยการเขียนเสือให้วัวกลัวคือ การจับกุมกล่าวหาผู้ประกอบการที่ตกใจและไม่รู้ช่องทางของกฎหมายสัก 2-3 ราย ต่อจากนั้นก็จะมี “หน้าม้า” คือ “นายดาบ” ที่ชอบให้ใครต่อใครเรียกว่าหมวดทำการเก็บส่วย เพื่อแลกกับการไม่ถูก “รบกวน” จนไม่เป็นอันทำมาหากิน
เรื่องที่เกิดขึ้นที่คลังน้ำมัน อ.สิงหนคร แม้จะจบลงด้วยดีเพราะความเข้าใจในปัญหาของนายธำรง เจริญกุล ผวจ.สงขลา พ.ต.อ.ศุภวัฒน์ ทับเคลียว รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา พ.ต.อ.อาคม บัวทอง ผกก.สภ.สิงหนคร รวมถึงนายอำเภอ ขนส่งจังหวัดและพลังงานจังหวัดที่ยืนยันว่า ผู้ประกอบการสามารถใช้ใบอนุญาตที่ได้รับ ประกอบการได้ แต่ในอนาคตเรื่องอย่างนี้ยังต้องเกิดขึ้นอีก หากยังไม่มีการปฏิรูปหรือยกเลิกการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เหล่านี้เพื่อสร้างเงื่อนไขให้กับประชาชน
ประเด็นปัญหาที่เห็นชัดเจนคือ ตำรวจ ปนม.ชุดนี้เป็นชุดที่แต่งตั้งโดย “นาย” ที่อยู่ส่วนกลางคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ไม่ขึ้นอยู่กับการสั่งการของ ผบช.ภ.9 เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่สามารถสั่งการได้ ต้องเสียเวลาในการประสานงาน บันทึกพฤติกรรมให้กับ “นาย” โดยตรงของ ปนม.ชุดนี้
มีคำถามว่าในเมื่อ บช.ภ.9 ก็มีตำรวจ ปนม. อยู่แล้ว และผู้ที่รับผิดชอบตำรวจ ปนม.ภาค 9 คือ พล.ต.ต.นภดล เผือกโสมณ รอง ผบช.ภ.9 นายตำรวจน้ำดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีหน่วยงาน ปนม.ซ้ำซ้อนที่มาจากส่วนกลางอีก เพราะที่ผ่านมามักจะสร้างปัญหา มากกว่าสร้างผลงาน
หรือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ไม่ไว้วางใจ ผบช.ภ.9 อย่าง พล.ต.ท.มนตรี โปรตระนันท์ จึงต้องตั้งตำรวจ ปนม.โดยคำสั่งจากส่วนกลางมาทำหน้าที่ซ้ำซ้อน ซึ่งไม่เฉพาะหน่วยงานของ ปนม.ที่มีการแต่งตั้งจากส่วนกลางมาซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วใน บชภ.ต่างๆ และก็มีอยู่ด้วยใน บกภ.จว.นั้นๆ จนสุดท้ายกลายเป็นการ “แย่งชิงอย่างอื่น” มากกว่าการแย่งกันจับกุมผู้ทำผิดกฎหมาย
การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งชุด ปนม.จากส่วนกลาง ชุด ปคม. ชุด ปส. และ ฉก. ต่างๆ มากมายมาปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับชุดดังกล่าวที่มีอยู่แล้วทั้งที่เป็นของ บชภ.9 และของ บก.ภ.วจ.ต่างๆ มากมาย และล้วนแต่มีปัญหากับประชาชนในพื้นที่ เรื่องนี้มี “เลศนัย” ที่มากกว่าการเข้ามาช่วยตำรวจในพื้นที่อย่างที่ผู้คนตั้งข้อสงสัยใช่หรือไม่
ถ้าใช่ ในการปฏิรูปตำรวจที่จะมีขึ้น หน่วยงานที่ซ้ำซ้อนเหล่านี้จะต้องไม่มี และหากหน่วยงานในพื้นที่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ให้ใช้วิธีการพิจารณาโทษด้วยการเอาผิด เท่านี้ปัญหามากมายที่เกิดจากการเป็น “นักบิน” ของ “หน่วยงานนอกรีด” ก็จะไม่เกิดขึ้น
ที่สำคัญพฤติกรรมของตำรวจชุดต่างๆ ในพื้นที่ที่แต่แต่งตั้งโดยส่วนกลาง และมีนายผู้สั่งกาอยู่ส่วนกลาง ตำรวจในพื้นที่ระดับ ผกก.สภ.นั้นๆ ต่างรู้ดีว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำตัวเป็นนักบิน สร้างปัญหาในพื้นที่ สร้างปัญหาให้ตำรวจด้วยกัน แต่ก็ไม่กล้าที่จะดำเนินการกล่าวโทษหรือรายงานเพื่อแก้ปัญหา เพราะเข้าใจว่าตำรวจเหล่านี้เป็น “เด็กนาย”
ซึ่งก็ไม่ทราบว่าที่ “นาย” แต่งตั้งมานั้นมีจุดประสงค์อะไร เพื่อ “งาน” หรือ “เงิน” จนสุดท้ายหน่วยงานยิ่งเยอะ อาชญากรรมยิ่งมาก และสุจริตชนยิ่งเดือดร้อนเพิ่มขึ้น?!
ซึ่งเพียงยก 2 เรื่องนี้มาว่ากล่าวก็เห็นได้ชัดว่า วันนี้ตำรวจจะต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพียงแต่การปฏิรูปนั้นจะต้องทำให้ตำรวจที่ไม่ดีให้พ้นจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสร้างตำรวจดีๆ สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น ทำโรงพักให้เป็นที่พักและที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง
อย่าให้โรงพักและพนักงานสอบสวนทำตัวเป็นเพียง “นายไปรษณีย์” ที่ไม่ว่าตำรวจหน่วยไหนกล่าวหาประชาชนในข้อหาต่างๆ ก็รับลงบันทึกประจำวันทันที โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และค่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาไปแก้คดีที่ศาล ทั้งที่บ่อยครั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง
ซึ่งหากตำรวจใน สภ.ต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็น “ต้นทาง” ของกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เรื่องรกโรงรกศาลอาจจะ น้อยลง และที่สำคัญผู้บริสุทธิ์จะไม่ต้องเสียเงินหรือเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอีก
คำพูดที่ว่า “ถ้าไม่ผิดค่อยฟ้องกลับ” ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องสำหรับสังคมไทย แต่เป็นคำพูดที่ต้องการ “ปัดสวะ” ความรับผิดชอบโดย “ไม่ชอบ” เท่านั้น?! ?!