xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการฯ เรียกร้องรัฐตั้งศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราวชาวโรฮีนจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์การให้ความช่วยเหลือชาวโรฮีนจาในสถานการณ์เปราะบางอย่างมีมนุษยธรรม พร้อมเรียกร้องรัฐบาล “จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราว” ยกให้เป็นวาระแสวงหาทางออกร่วมกันกับประเทศอาเซี่ยน

วันนี้ (21 พ.ค.) กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์เรื่องให้ความช่วยเหลือชาวโรฮีนจา ตามที่ได้ปรากฏการโยกย้ายถิ่นอย่างไม่เต็มใจของผู้อพยพชาวโรฮีนจา จากประเทศพม่า เข้ามาในบริเวณประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งทางบก และทางทะเลเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง และเด็ก โดยปรากฏข้อมูลจากสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา มีผู้อพยพหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยเฉลี่ยถึงปีละ 2,000 คน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการปราศจากการร่วมมือกันจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ทำให้ชาวโรฮีนจาต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก และมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากรัฐ สังคม และกลุ่มคนที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากชาวโรฮีนจา

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงขอเรียกร้องดังนี้ 1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย “จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราว” เพื่อให้ความช่วยเหลือ และให้การเยียวยาเฉพาะหน้า รวมทั้งให้การสนับสนุนปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐานแก่ชาวโรฮีนจา ในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เปราะบาง และการเผชิญต่อความอดอยาก และหิวโหย โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมมากกว่าอ้างสิทธิ และผลประโยชน์ของชาติแต่เพียงด้านเดียว 2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการริเริ่มในการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญา โดยการประสานความร่วมมือจากทุกประเทศในอาเซียน และยกระดับประเด็นโรฮีนจา เป็น “วาระปัญหาและการแสวงหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานหลักการความเป็นมนุษย์ที่จะต้องรับการปกป้องและคุ้มครอง”

3.จากข้อเท็จจริง และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบว่ามี “ขบวนการค้ามนุษย์” ที่เกิดจากสมคบคิด และร่วมมือของกลุ่มผลประโยชน์ในระดับต่างๆ อันนำสู่การกดขี่ คุกคามชาวโรฮีนจาในหลากหลายรูปแบบ จึงขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ “ขจัดและกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง” 4.ขอเรียกร้องให้คนในสังคมไทยปรับเปลี่ยนเจตคติต่อชาวโรฮีนจาในฐานะมนุษย์ที่มีความเท่าเทียม มีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นบุคคลทุกคน อย่าให้เจตคติที่ไม่ถูกต้องเป็นกำแพงปิดกั้นจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อมนุษย์ด้วยกัน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ วันที่ 21 พฤษภาคม รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น