โดย...ธีรวุฒิ อ่อนดำ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
แนวโน้มผลผลิตยางธรรมชาติโดยรวมของโลกไตรมาสที่ 2/2015 ประกอบกับการประมาณการโดยใช้ข้อมูลสถิติที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณผลผลิต และความต้องการใช้ยางธรรมชาติโดยรวมมีแนวโน้มทรงตัว จากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ และความกังวลในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนผ่านการปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2015-16 ลงสู่ระดับ 3.5%, 3.7% จาก 3.8%, 4.0% ตามลำดับ (IMF) สอดคล้องต่อ World Bank ที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP 2015 โลกลงสู่ระดับ 3.0% จาก 3.4%
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งสะท้อนผ่านแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System : Fed) ที่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยล่าสุด ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้ยางธรรมชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตยางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยางธรรมชาติที่สำคัญ
แต่ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจจีนกลับสวนทางกัน ซึ่งล่าสุด ธนาคารกลางจีน ประกาศปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) หรือทุนสำรองระดับต่ำสุดที่ธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองไว้ลงอีก 1% ทั้งนี้ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ปัจจุบันเริ่มชะลอตัว
ดังนั้น แม้ว่าอเมริกาซึ่งถือเป็นประเทศผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญของจีนมีสัญญาณเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมมองว่าปริมาณความต้องการยางธรรมชาติยังคงถูกจำกัดโดยเศรษฐกิจจีน ขณะที่เศรษฐกิจฝั่งยุโรป ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจเดิมๆ
สำหรับแนวโน้มผลผลิตของไทย ในภาพรวมคาดว่า ปริมาณผลผลิตลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากราคายางที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจที่จะเร่งกรีดยาง ประกอบกับหลายพื้นที่ในแถบภาคเหนือ และอีสานประสบปัญหาภัยแล้ง และที่สำคัญตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นที่ปลูกยางพาราหลักของพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด เริ่มกลับมาเปิดกรีดยางรอบใหม่ช่วงหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา หลังจากทิ้งช่วงผลัดใบยางพารามาระยะหนึ่ง
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาสที่ 2/2015 คาดว่า ปริมาณการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ขณะที่บทบาทของไทยในการเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก อาจลดความสำคัญลงจากการที่หลายประเทศหันไปปลูกยางพารา และเริ่มเก็บผลผลิตได้เพิ่มขึ้น บวกกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลง และทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะเกิดขึ้นปลายเดือนนี้ น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางค่าเงินที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มราคายางในประเทศ คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบๆ มีแนวโน้มขยับลงในช่วงปลายไตรมาส ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากปริมาณผลผลิตโดยรวมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากผ่านพ้นช่วงผลัดใบยางพารา ประกอบกับในหลายพื้นที่จะเริ่มมีฝนตกลงมาบ้าง ซึ่งจะช่วยคลายความแห้งแล้ง และส่งผลทำให้ผลิตน้ำยางได้เพิ่มขึ้น