เอเอฟพี - สถาบันการเงินสหรัฐฯต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อรับมือกับมาตรการกำกับการเงินใหม่เข้มข้นที่จะเริ่มใช้ในปี 2017 เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯต้องเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดมาจากการเงินการธนาคารอีกครั้ง และทำให้สถาบันการเงินใหญ่ๆของสหรัฐฯ เช่น ธนาคารเชซ (CHASE) ของ JP Morgan เตรียมปิด 300 สาขา รวมถึงเลิกจ้างพนักงานบางส่วนประจำสาขาเหล่านั้นภายใน 2ปีข้างหน้า รวมไปถึงมาตรการอื่นๆที่สถาบันการเงินสหรัฐฯขนาดใหญ่ต่างนำมาใช้ เช่น การปลดพนักงาน ปรับโครงสร้างองค์กร รวมไปถึงการใช้ระบบอัตโนมัติแทนการใช้พนักงานให้บริการ เป็นต้น
ในการปรับตัวอย่างกระทันหันของบรรดาสถาบันการเงินสหรัฐฯก่อนปี 2017 ซึ่งจะเริ่มมีการใช้มาตรการกำกับสถาบันการเงินอย่างเข้มงวด และทำให้บรรดาสถาบันการเงินเหล่านั้นหต้องหันมาใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการหั่นค่าใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว ปรับโครงสร้างองค์กรให้เล็กลง รวมไปถึงลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการ และใช้ระบบอัตโนมัติให้บริการกับลูกค้าแทนการใช้พนักงาน เช่น ให้ลูกค้าธนาคารทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์แทนที่จะต้องเดินทางไปธนาคารด้วยตนเอง ซึ่งธนาคารเชซ ( CHASE) ของ JP Morgan เตรียมปิดสาขา 300 แห่งภายในสิ้นปี 2016 และจะปลดพนักงานบางส่วนที่ทำงานในสาขาที่ปิดตัวเหล่านั้นด้วย นอกจากที่วางแผนลดค่าใช้จ่ายให้ได้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์ก่อนปี 2017
เอเอฟพีรายงานวันนี้(3)ว่า ในปี 2014 โกลแมนแซคจ่ายต่ำสุดนับตั้งแต่สถาบันการเงินเพื่อการลงทุนที่มีชื่อเสียงของวอลสตรีทแห่งนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 1999 ซึ่งการที่ต้องทำตามข้อกำหนดใหม่ของมาตรการกำกับดูแลการเงินและการธนาคารของสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินต้องยอมถอยออกจากหลักทรัพย์ที่ให้ค่าตอบแทนสูง รวมไปถึงการจำกัดจำนวนเงินฝากโดยการที่ทางสถาบันการเงินจะเพิ่มค่าธรรมเนียมลูกค้าธนาคารที่นำทรัพย์สินมาฝากกับทางธนาคาร ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ JP Morgan แถลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ JP Morgan กำลังลดบทบาทของสถาบันการเงินในส่วยการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และรวมไปถึงตลาดคอมโมดิตี (Commodities) และได้นำ Oil Trading Unit เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้เอเอฟพียังรายงานเพิ่มเติมว่า JP Morgan ต้องการให้ความสนใจกับการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management ) หรือการนำเงินของลูกค้าไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล และธุรกิจอื่นๆที่มีความเสี่ยงต่ำ
เพราะผู้ควบคุมกำกับการเงินการธนาคารต้องการปรับให้มาตรการกำกับมีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันเกิดวิกฤตการทางการเงินเหมือนเช่นเคยเกิดกับสหรัฐฯในปี 2008 และส่งผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯและหน่วยงานรัฐบาลกลางต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
และเอเอฟพียังรายงานต่อว่า มาตรการกำกับสถาบันการเงินฉบับที่ 3 ของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือบาเซิล 3 (Basel III) ได้กำหนดให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มเงินสํารองกันชน (Capital Buffers) ทั้งในรูปคณภาพและปริมาณ ที่กำหนดให้มีขั้นต่ำ 7% ของทรัพย์สินทั้งหมดตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่า ในเงินทุก 100 ดอลลาร์ที่ให้กู้ ยืม 7 ดอลลาร์ต้องมาจากเงินของธนาคาร
แต่ทว่าทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ เฟด (Federal Reserve) และคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินสหรัฐฯ ( FSB ) ต้องการมาตรการกำกับการเงินที่เข้มข้นมากกว่านี้ ซึ่งเอเอฟพีชี้ว่า FSB ต้องการให้สถาบันการเงินใหญ่ในสหรัฐฯมีเงินสํารองกันชนราว 16-20% ของทรัพย์สินที่มีความเสี่ยง หรือ "Total Loss Absorbency capacity" ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เงินของรัฐบาลอเมริกันหรือของเงินผู้เสียภาษีชาวอเมริกันถูกนำมาใช้เพื่อกอบกู้สถาบันการเงินที่ล้ม
ทั้งนี้ในส่วนของเฟด เอเอฟพีชี้ว่า ต้องการให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ 8 แห่งของสหรัฐฯต้องมีเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามระดับความเสี่ยงของสินทรัพย( risk based capital surcharge ) และตามข้อเสนอของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทางเฟดสามารถห้ามไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินปันผล หรือกลับเข้าช้อนซื้อหุ้นหากสถาบันการเงินแห่งนั้นไม่ปฎิบัติตาม ในขณะที่ ไบรอัน มาร์คิโอนี (Brian Marchiony)โฆษกของ JP Morgan ให้ความเห็นว่า “ทางเราต้องการจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ทางเราต้องการให้มีเงินปันผล และสามารถช้อนซื้อหุ้นกลับเพื่อสร้างความสมดุลย์”
ซึ่งภายใต้กฎหมายปฎิรูปการเงินวอลสตรีท Dodge Frank ที่เรียกว่า “Volcker Rule” สถาบันการเงินสหรัฐฯถูกห้ามทำการซื้อขายโดยตรงที่เรียกว่า “Proprietary Trading” หรือ การซื้อขายหลักทรัพย์ในนามตนเอง โดยใช้ทรัพย์สินของสถาบันการเงินในการทำการ ซึ่งในที่นี้คือในนามของสถาบันการเงินแห่งนั้นเพื่อทำกำไรอันจะพึงมีแก่สถาบันการเงิน แทนการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อค่านายหน้าตามปกติ
เอเอฟพีรายงานว่า คำสั่งห้ามนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่มากจนเกินไป และทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นกับเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารแห่งนั้น ตัวอย่างเช่น วิกฤตการซื้อขาย London Whale ในปี 2012 ทำให้ JP Morgan ต้องขาดทุนไปถึง 6 พันล้านดอลลาร์