xs
xsm
sm
md
lg

โครงการศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ยังวุ่น! พบ TOR มีปัญหา หวั่นสร้างแล้วใช้การไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - โครงการสร้างศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ยังวุ่นไม่จบ ล่าสุด กรรมการ TOR ร่อนหนังสือแจงเหตุจี้ผู้บริหาร หลังพบถูกตัดคุณสมบัติผู้รับเหมาส่วนสำคัญทิ้ง สงวนสิทธิไม่ลงนามหวั่นสร้างแล้วใช้งานไม่ได้

วันนี้ (10 เม.ย.) ปัญหาภายในการจัดการบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ยกเลิกสัญญาว่าจ้างกับบริษัทร่วมค้าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับจ้าง โดยอ้างเหตุผลในการพบเอกสารที่เป็นส่วนประกอบในการทำนิติกรรมสัญญาว่าจ้างเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ล่าสุด วันนี้ (10 เม.ย.) สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ ยังกลายเป็นปัญหาที่ยังหาทางจบลงไม่ได้ โดยมีเอกสารบันทึกความเห็นแย้ง กรณีการกำหนด TOR โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปการ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ภายในมหาวิทยาลัย และแพร่หลายสู่บุคคลภายนอก ซึ่งลงนามโดย นายประพาส ศรีวิลัย วิศวกรส่วนอาคารสถานที่ โดยหนังสือได้ส่งออกส่วนอาคารสถานที่ ลงวันที่ 9 เม.ย.58 ส่งถึงอธิการบดี ผ่านผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารสถานที่

โดยสาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้ได้อ้างถึงการขอลาออกจากเป็นกรรมการพิจารณากำหนดขอบเขตงาน หรือ TOR โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ และปรากฏว่า ไม่ได้รับการอนุมัติ และให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และอ้างถึงการจัดทำ TOR ทุกครั้งได้มีส่วนในการกำหนดรายละเอียดที่สำคัญโดยสรุปคือ ผู้เสนอราคาต้องมีผลงานก่อสร้างงานระบบสำคัญในโรงพยาบาล คือ ห้องผ่าตัด หรือห้องไอซียู มาไม่น้อยกว่า 2 สัญญา โดยอาจเป็นผลงานบางส่วน และเป็นผลงานที่แล้วเสร็จมาไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันก่อสร้างเสร็จจนถึงวันประกวดราคา

รายละเอียดคุณสมบัตินี้นับเป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้างอาคารสำคัญของโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ และพบว่า มีการลดคุณสมบัตินี้ในโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ในครั้งนี้ เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ อันเนื่องจากได้ผู้รับจ้างที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม อาจทำให้โครงการมีปัญหาในการใช้งาน โดยอ้างการให้ข้อมูลของ รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คนปัจจุบันระบุว่า เคยมีโรงพยาบาล หรือศูนย์การแพทย์หลายแห่งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ โดยเฉพาะในส่วนของห้องไอซียู และห้องผ่าตัด ส่วนหนึ่งจากมูลเหตุที่ผู้รับจ้างไม่มีประสบการณ์เพียงพอ จึงต้องกำหนดผลงานส่วนนี้ไว้เป็น 2 เท่าของงานที่จะก่อสร้างจริง ซึ่งหากเกิดกรณีนี้จะต้องทำให้เปลืองงบประมาณ และเวลาในการแก้ไขมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ประสงค์ลงนามใน TOR และมีบันทึกแย้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และประโยชน์ของทางราชการ หลังจากนั้น จึงลงนามโดย นายประพาส ศรีวิลัย วิศวกรอาคารสถานที่

วันเดียวกัน มีรายงานว่าผู้ที่อยู่ในข่ายถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งเป็นบุคคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อย่างน้อย 14 ราย ได้เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรักษาการอธิการบดี และคณะบริหารที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นข้อต่อสู้ที่การรักษาการนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คำสั่งในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น