การก่อวินาศกรรมในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ที่เกิดขึ้น 4 จุด ด้วยระเบิดแสวงเครื่อง 5 ลูก เมื่อกลางดึกของวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา แม้ว่า ระเบิดแสวงเครื่องดังกล่าวไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บ ล้มตาย เพราะชนวนระเบิดถูกจุดขึ้นในกลางดึก ที่เป็นเวลาของการ “ปลอดคน” และปลอดจาก “เจ้าหน้าที่”
แต่ก็สร้างความเสียหายในแง่ของ “จิตวิทยา” และในแง่ของการ “ดิสเครดิต” ที่เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน เพราะระเบิดที่ดังขึ้น 4 จุด ในตัวเมืองปัตตานี เป็นการบ่งบอกแก่สังคมในพื้นที่ว่า
1.เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันเมืองเพื่อให้เป็นเขตปลอดภัยอย่างแท้จริง จุดตรวจ จุดสกัดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสกัดมิให้กลุ่มก่อการร้ายเข้ามาก่อวินาศกรรมในตัวเมือง ยังไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันการก่อวินาศกรรมในเมืองใหญ่ๆ อย่างได้ผล
2.เป็นการแสดงให้เห็นว่า การที่ไม่มีเหตุร้ายในตัวเมืองที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะกลุ่มก่อการร้ายไม่มีความต้องการที่จะก่อเหตุ ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายอาจจะมีเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ถ้าเมื่อใดที่เขาต้องการที่จะก่อเหตุเพราะมี “เงื่อนไข” อย่างเพียงพอ เขาก็สามารถที่จะปฏิบัติการการได้ในทันที และ “เงื่อนไข” หรือ “ปัจจัย” ที่เป็นส่วนในการ “เกื้อหนุน” ให้กลุ่มก่อการร้ายปฏิบัติการ “บึ้ม” กลางเมืองปัตตานีในครั้งนี้ก็คือ เหตุการณ์ที่ตำรวจ ทหาร “วิสามัญ” นักศึกษา และ ประชาชนรวม 4 ศพ ที่บ้าน โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
ซึ่งหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้แถลงข่าวว่าเป็นการ “วิสามัญ” แนวร่วมขบวนการโจรก่อการร้ายที่เตรียมประชุมวางแผนเพื่อก่อกากรร้ายใน อ.ทุ่งยางแดง ซึ่งนอกจากจะมีการ “วิสามัญ” 4 ศพ แล้ว ยังมีการจับกุมประชาชนไปสอบสวน ซักถาม เพราะสงสัยว่าเป็น “แนวร่วม” อีก 22 ราย ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เชื่อว่าผู้ที่ถูก “วิสามัญ” เป็นกลุ่มก่อการร้าย เช่นเดียวกับที่ไม่เชื่อว่าชาวบ้าน 22 คน เป็น “แนวร่วม” ที่มาประชุมกันเพื่อก่อการร้ายในพื้นที่ และสุดท้าย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้อง “จำนน” ต่อข้อเท็จจริงหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น จนต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และจะให้คำตอบกับสังคม และครอบครัวของผู้สูญเสียภายใน 7 วัน ซึ่งอาจจะทำให้ “ไฟร้อน” ที่เป็นไฟ “ในใจ” ของผู้คนในพื้นที่ลดความร้อนแรงลง
สิ่งที่ต้องจับตามองคือ หลังเหตุการณ์ “วิสามัญ” 4 ศพ และจับกุมประชาชน 22 คน สถานการณ์ในพื้นที่มีการเพิ่มความรุนแรงขึ้น เช่นมีการวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีการยิงนักการภารโรงที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีเหตุการณ์คนร้ายแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ ปล้นชิงรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลละแอ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นการ “ปล้นชิง” ไปเพื่อประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และจนถึง ณ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ยังหารถยนต์คันดังกล่าวไม่พบ ทั้งที่ภาพจากกล้องวงจรปิด เผยให้เห็นว่า เส้นทางของรถยนต์คันดังกล่าว คือ เดินทางจาก อ.ยะหา เข้ามาในเขตเทศบาลนครยะลา และแน่นอนว่า เมื่อยังหารถยนต์คันนี้ไม่พบ ประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่ อ.เมืองยะลา คงจะหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะไม่รู้ว่ารถยนต์คันนี้จะแปรสภาพเป็น “คาร์บอมบ์” เพื่อสร้างความสูญเสียให้แก่ประชาชนในเวลาไหน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็น “นัย” ที่บ่งบอกว่า ขบวนการกลุ่มก่อการร้าย หรือแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีความเคลื่อนไหวทั้งในด้านการเมือง และด้านการทหาร แต่ในด้านการทหารนั้น จะมีการเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีปัจจัย หรือมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น จึงจะทำการตอบโต้ หรือปฏิบัติการเพื่อสร้างความสูญเสียให้เจ้าหน้าที่รัฐ และให้แก่บ้านเมือง เช่น การรอเงื่อนไขที่ประชาชนไม่พอใจ เจ็บแค้น เจ้าหน้าที่รัฐจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นที่ทุ่งยางแดง ด้วยการก่อวินาศกรรมในตัวเมืองปัตตานี แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้น ไม่ทำให้มวลชนมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม และรู้สึกว่าถูกใส่ร้าย จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็จะดำเนินการทางด้านการเมืองเป็นด้านหลัก นั่นคือ การโฆษณาชวนเชื่อ การใช้หลักการศาสนาด้วยการบิดเบือนเพื่อสร้างมวลชน เพื่อสร้าง”เซลล์การก่อการร้าย ซึ่งหมายถึงการบ่มเพาะเพื่อนำคนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้น ตลอดเวลาเราจึงจะเห็นแนวร่วมรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น และถูกสั่งให้ปฏิบัติการก่อเหตุร้ายอย่างประปรายอยู่ตลอดเวลา
การที่จะไม่เปิดโอกาสให้แนวร่วมก่อเหตุร้ายในพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้แนวร่วมใช้เป็นโอกาสเพื่อการสนับสนุนจากมวลชน เพราะโดยข้อเท็จจริงประชาชน ในพื้นที่ 4 จังหวัดส่วนใหญ่เบื่อหน่ายสภาพของความเป็นอยู่ที่อยู่ด้วยความหวาดระแวง เป็นเวลากว่า 10 ปี และประชาชนส่วนใหญ่พร้อมที่จะเลือกข้าง โดยอยู่อย่างสงบกับฝ่ายบ้านเมือง หาก เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีการสร้างเงื่อนไข สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่อย่างเกาะติด จะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ทุกครั้งที่ทหาร ตำรวจ “วิสามัญ” หรือจับกุมแนวร่วมตัวจริง ประชาชนในพื้นที่นอกจากจะไม่มีปฏิกิริยาในการต่อต้านเจ้าหน้าที่แล้ว หลายคนยังถอนหายใจด้วยความโล่งอก หรืออาจจะแอบยิ้ม เพราะพวกเขาจะได้พ้นจากการเป็นตัวประกันเสียที
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้ที่ถูกวิสามัญ และถูกจับกุมไม่ใช่ของจริง ก็จะสัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาของการต่อต้านแบบเงียบๆ และเห็นถึงการแสดงออกของการเป็นศัตรูต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถที่จะส่งสัญญาณให้รู้ว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการเป็นความผิด หรือถูก
นี่เคยเขียนมาโดยตลอดว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์วิสามัญเกิดขึ้น สิ่งแรกคือ อย่าเพิ่งให้ข่าวว่าผู้ถูกวิสามัญเป็นแน่วร่วม เป็นคนร้ายที่มีหมาย พ.ร.ก.ติดตัวมากมายหลายหมาย แต่ให้ตรวจสอบโดยละเอียดก่อนที่จะมีการแถลงข่าว เพราะหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เคยมีความผิดพลาด และ สร้างความเสียหาย และทำให้สถานการณ์ของพื้นที่เลวร้ายมาแล้วหลายครั้ง แต่หน่วยงานของรัฐ ก็ไม่เคยสำเหนียก ทุกครั้งที่เกิดเหตุ ผู้ตาย ผู้ถูกจับกุมจะต้องถูก “กล่าวหา” ว่าเป็นแนวร่วม ระดับปฏิบัติการทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรคมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น และมีการออกมาขอโทษ จาก พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผบช. ศชต. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบชุดปฏิบัติการพิเศษ ที่ประกอบด้วย ตำรวจ และทหารพราน 6 นาย ที่เป็นผู้ปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะทำให้ความเจ็บปวดของผู้สูญเสียลดทอนลงได้บ้าง
แต่ถ้าสุดท้าย เรื่องที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถนกคนผิดมารับโทษได้ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจจะล่าช้าออกไปเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ กรณี ก็จะยิ่งทำให้ สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อนแรงยิ่งขึ้น และแนวร่วมก็จะฉวยโอกาสว่ามีความชอบธรรมในการปฏิบัติการแก้แค้น สุดท้ายผู้รับกรรม คือ ประชาชน ผู้ที่กลายเป็นเหยื่อ และเป็นตัวประกันจากสาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ และการซ้ำเติมด้วยการป้ายสีให้แก่ ผู้ตาย และผู้ถูกจับกุม ดังนั้น กอ.รมน..ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องดำเนินการต่อปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรอบรอบรัดกุม ต้องกล้าที่จะรับผิด หากเจ้าหน้าที่ทำผิดจริง รวมทั้งต้องให้ทุกหน่วยโดยเฉพาะหน่วยพิเศษทุกหน่วยในพื้นที่ ให้ปฏิบัติการด้วยความรอบคอบ และต้องไม่ลุแก่อำนาจ และสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ ถ้าเกิดความพลาดพลั้ง ให้มีคนตายคนเจ็บ จะต้องไม่มีการจัดฉากนำอาวุธมาให้คนตาย เพื่อให้กลายเป็นคนร้ายอย่างเคยเกิดขึ้น และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะหากมีการใช้ วิธีการอย่างนี้เรื่อยๆ เพื่อที่จะจัดฉากให้ผู้ทำผิดพ้นผิด สุดท้ายแล้วอย่าเชื่อว่าการใช้ มาตรา 44 จะสามารถทำให้ประชาชนที่เจ็บปวด ทนได้โดยไม่ออกมาเรียกร้องความชอบธรรมจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น จึงหวังว่า หน่วยงานในพื้นที่ทุกฝ่าย รวมถึงรัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้เวลานั้นมาถึง....ไชยยงค์ มณีพิลึก