xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงาน ‘ลับ’ ผู้ตรวจการฯ จี้รัฐป้องชุมชน เลิกสัมปทานระเบิดหิน ‘เขาคูหา’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหานำเอกสารลับผลการตรวจสอบวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิฯ กรณีผลกระทบเหมืองหินเขาคูหา เข้าร้อง มท.1 ให้ทบทวนการขอต่ออายุประทานบัตรโรงโม่หินเขาคูหาแก่เอกชน 2 ราย ตามที่ผู้ว่าฯ สงขลา เสนอ เผยผลสอบ EIA ใช้ข้อมูลเท็จ และมีการส่งหินไปขายประเทศอินเดีย ผิดเจตนารมณ์การประกาศแหล่งหิน ซ้ำ ‘เขาคูหา’ เป็นโบราณสถานที่กรมศิลป์ขึ้นทะเบียน แต่ถูกระเบิดไปแล้วกว่า 1 ใน 3 ของภูเขา เผยตลอด 10 กว่าปีเหมืองหินกระทบชุมชนรอบด้าน บ้านเรือนเสียหาย 326 หลัง จี้รัฐเลิกสัมปทาน คืนความสงบสุขสู่ชุมชน ชาวบ้านหวังผลักดันเป็นพุทธสถาน

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีการขอต่ออายุสัมปทานเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ของบริษัทเอกชน 2 ราย ที่อายุสัมปทานทำเหมืองหินได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2552 และปี 2553 ตามลำดับ โดยหลังจากหมดอายุสัมปทาน ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระเบิดหินได้รวมตัวเป็นเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระตรวจสอบผลกระทบจากการทำโรงโม่หินตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีทั้งผลกระทบทางด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำมาหากิน

เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองหินเขาคูหา คือปัญหาบ้านเรือนแตกร้าวเสียหาย มีรายชื่อผู้ลงทะเบียนไว้ถึง 326 หลังคาเรือน เครือข่ายฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนและทำหนังสือร้องเรียนไปยังองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งสององค์กรรับเรื่องและเริ่มกระบวนการตรวจสอบวินิจฉัยตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ประทานบัตรโรงโม่หินเขาคูหาของผู้ประกอบการทั้ง 2 รายหมดอายุลง จนกระทั่งวันที่ 24 พ.ค.2555 สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 12 มิ.ย.2556 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา หลังจากทำการตรวจสอบวินิจฉัย ทั้ง 2 องค์กรเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาสอดคล้องกันคือให้ภาครัฐยุติการต่ออายุสัมปทานทำเหมืองหินเขาคูหา และประกาศยกเลิกเขาคูหาจากประกาศรายชื่อแหล่งหินของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา นายนายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มีหนังสือ ที่ สข ๐๐๓๓(๒)/ ๙๓๗ เรื่องการจัดทำความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรี ขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด เสนอไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย
(อ่านเนื้อหาจากรูปภาพด้านล่าง)
 



เนื้อหาในย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือดังกล่าว ระบุว่า “จังหวัดสงขลาได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นควรอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรได้ ซึ่งเห็นว่าบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แล้ว และได้ผ่านการประชาคมแล้ว ประกอบกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรที่อยู่อาศัยต่างให้ความเห็นชอบและสนับสนุนการประกอบกิจการ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาและของประเทศ”

เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาจึงรวบรวมเอกสารลับผลการวินิจฉัยตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินและรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชนอีกครั้ง
 

 
*** จี้ ‘มหาดไทย’ ทบทวนความเห็น ‘ผู้ว่าฯ สงขลา’

นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เปิดเผย ‘ASTVผู้จัดการภาคใต้’ เมื่อ 12 มี.ค.58 ที่ผ่านมา เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ได้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ทบทวนความเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรื่องการจัดทำความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.เรื่องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด

เครือข่ายฯ ได้แนบเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย 1.รายงานผลการตรวจสอบกรณี เขาคูหา ของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เลขที่ ๔๓๖/๒๕๕๖ 2.ผลการวินิจฉัยของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี เหมืองหินเขาคูหา เลขที่ ผผ ๑๑/๔๐๙ 3.คำพิพากษาศาลฏีกา คดีแพ่ง นางเรณู และพวกฟ้องร้องบริษัทฯบ้านแตกร้าว เสียงดัง ฝุ่นทำลายสุขภาพ 4.คำพิพากษาศาลจังหวัด คดีแพ่ง นายเอกชัย และพวกฟ้องบริษัทฯก่อให้เกิดความเสียหาย คดีสิ้นสุด 5.เอกสารการติดตามสืบทรัพย์ ที่ดิน บริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด 6.หนังสือจังหวัดสงขลา ที่ สข ๐๐๓๓(๒)/๙๓๗ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ 7.หนังสือเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ที่ คสค. ๐๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ 8.หนังสือภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ฯ ที่ ศธ ๐๕๒๑.๑.๑๐๐๗/๒๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ 9.รายงานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯเขาคูหา จังหวัดสงขลา ปี ๒๕๕๔ ถึง ๒๕๕๖ 10.เอกสารตัวอย่าง เอกสารเท็จขึ้นมาประกอบ EIA ของบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด

นายเอกชัย กล่าวว่า เครือข่ายฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ระบุว่าอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรแก่ผู้ประกอบการโรงโม่หิน โดยไม่สนใจ ไม่สอบถามกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหา ไม่ลงพื้นที่ดูความจริง ทั้งที่มีเอกสารปัญหาความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่เรียกข้อมูลเอกสารคำชี้แจงจากส่วนงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนมาตรวจสอบ

“การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ใช้ระยะเวลาหลายเดือนก่อนมีข้อสรุป ให้ทบทวนการให้สัมปทานทำเหมืองหินเขาคูหาเนื่องจากชุมชนอยู่รอบพื้นที่ และการดำเนินงานของเหมืองหินกระทบต่อชุมชนจริง แต่กลับไม่มีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้เลย”

 
*** ย้อนหลัง 10 กว่าปีโรงโม่หิน ชุมชนรับผลกระทบทุกด้าน

นายเอกชัย เปิดเผยว่า สำหรับเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เป็นการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา ที่ต้องการเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาสัญลักษณ์ของชุมชน จากการที่เขาคูหาถูกกำหนดเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมของ จ.สงขลา ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และได้อนุญาตประทานบัตรให้กับบริษัทเอกชน 2 ราย คือ บริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด และนายมนู เลขะกุล ซึ่งหมดอายุประทานบัตรไปแล้วเมื่อปี 2552 และ 2553 แล้วนั้น

กว่า 10 ปีที่ผ่านมาชุมชนต้องประสบกับปัญหาจากการทำเหมืองหินของ 2 บริษัทดังกล่าว ทั้งปัญหาบ้านเรือนแตกร้าวจากแรงสั่นสะเทือนของการระเบิด ฝุ่นละอองกระทบต่อสุขภาพ เสียงดังตระหนกตกใจ เศษหินปลิวตกเข้ามาในบริเวณบ้าน แปลงการเกษตร มีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานต่างๆ และได้มีกระบวนการตรวจสอบทั้งโดยคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี มีอนุกรรมการชุดต่างๆ ทุกระดับ รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

สรุปผลการตรวจสอบ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีความเห็นว่า “พื้นที่เขาคูหาไม่เหมาะแก่การประกอบกิจการระเบิดหิน เนื่องจากอยู่ในชุมชน มีชุมชนขยายเพิ่มขึ้นรอบเขาทุกๆ ปี หากยังคงให้ประกอบกิจการระเบิดหินย่อมจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้...”

จึงมีมติกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอต่อ “กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และจังหวัดสงขลา ควรพิจารณายกเลิกพื้นที่เขาคูหาเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชน พื้นที่แหล่งน้ำและภาคเกษตรกรรม...”

ทางด้านผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ รวบรวมเอกสาร หนังสือชี้แจง หลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณา ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้

“นายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนการต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินเขาคูหาเพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน และจะได้เสริมสร้างให้เกิดความรัก สามัคคี ในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”

ส่วนทางด้านกระบวนการยุติธรรม มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัทฯ รวมทั้งสิ้น 3 คดี คดีแรก ความแพ่ง นางเรณู แสงสุวรรณและพวกรวม 4 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหาย โดยศาลฏีกา ได้มีคำพิพากษา ที่ ๑๒๖๖๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2557 พิพากษายืน ตามศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้บริษัทชำระค่าเสียหายแก่โจทย์ทั้ง 4 คน อันประกอบด้วย ค่าเสียหายบ้านเรือนแตกร้าว เนื่องจากแรงสั่นสะเทือน ค่าเสียหายจากฝุ่น

คดีที่สอง ความแพ่ง ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ กับนางประดวง จันทสุวรรณ โดยศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้บริษัทชำระค่าเสียหาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างฏีกาของบริษัทฯ

คดีที่สาม ความแพ่ง นายเอกชัย อิสระทะ และพวกรวม 9 คน ถูกบริษัทพีรพลฯ ฟ้องร้อง 64 ล้านบาทเศษ ต่อมาทางบริษัทฯ ได้ถอนฟ้อง อ้างว่า “บริษัทฯ ได้เลิกกิจการเหมืองแร่หิน ณ เขาคูหาแล้ว” นายเอกชัย อิสระทะ และพวกรวม 9 คน จึงได้ฟ้องกลับจากการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาให้ทางบริษัทฯ จ่ายค่าเสียหาย ...” ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหาย
 

*** เผย ‘ทุนอินเดีย - นักการเมือง’ รับช่วงต่อประทานบัตรโรงโม่หิน

นายเอกชัย กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ติดตามสืบทรัพย์จากสำนักงานที่ดินอำเภอรัตภูมิและอำเภอหาดใหญ่ ไม่ปรากฏชื่อบริษัท พีรพล มายนิ่ง จำกัด ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองท้องที่ และทราบจากสำนักงานที่ดินว่า ที่ดินของบริษัทฯ ได้เปลี่ยนมือไป ก่อนหน้าที่คดีถึงที่สุด ส่วนหนึ่งอยู่ในมือของกลุ่มทุนจากประเทศอินเดีย

“เครือข่ายฯ จึงได้ทราบว่ามีนายทุนกลุ่มใหม่จากอินเดียร่วมมือกับอดีตนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่เพื่อทำเหมืองหินเขาคูหาและทุนกลุ่มนี้เป็นผู้ดำเนินการประสานจัดการจ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้านกรณีบ้านเรือนแตกร้าว ส่วนแรกในรัศมี 850 เมตร จำนวน 98 ราย เพื่อหวังให้กระบวนการต่ออายุประทานบัตรดำเนินการต่อไป”
 

 
*** อ้างใช้หินพัฒนาภาคใต้แต่ส่งขายอินเดีย - อัด ผวจ.ต้องรอบคอบ

นายเอกชัย กล่าวและว่า เครือข่ายฯ เห็นว่า หนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ไม่รอบคอบ ไม่มีกระบวนการในการพิจารณา ไม่สืบค้นข้อมูล ไม่ตรวจสอบ และไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ทั้งที่เครือข่ายฯ เพิ่งทำหนังสือเรียนผู้ว่าฯ สงขลา เพื่อขอยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม และทบทวนการต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินเขาคูหาไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา

“เครือข่ายฯ ได้เรียนท่านผู้ว่าฯ คนใหม่ว่าที่ผ่านมามีปัญหาต่างๆ มากมาย และการที่หินเขาคูหาได้ถูกส่งขายไปประเทศอินเดีย ผิดเจตนารมณ์การประกาศแหล่งหิน ข้อมูลนี้ได้มาจากกระบวนการตรวจสอบจากภาคส่วนต่างๆ แต่ไม่มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณา การกระทำดังกล่าว อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรอบใหม่ในพื้นที่ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขาดกระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม จากผลกระทบของการให้ประทานบัตร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”

นายเอกชัย เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯ ได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทราบถึงความสำคัญของเขาคูหา ที่มีคุณค่ามากกว่าคำว่า “หินปูน” โดยอ้างถึงเอกสารของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนี้

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ได้มีหนังสือชี้แจงสรุปได้ว่า อ.รัตภูมิ มีคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “ถิ่นดินแดง แหล่งผลไม้ดก น้ำตกเจ้าฟ้า ภูผามีตำนาน ประตูผ่านสู่ชายแดน” ซึ่งเขาคูหาเป็นหนึ่งในห้าเขาสามควน ที่เป็นตำนานภูเขาใน อ.รัตภูมิ เป็นภูมิลักษณ์วรรณาของอำเภอ เป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

กรมศุลกากร ได้มีหนังสือชี้แจงสรุปได้ว่า หินปูนเขาคูหาของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ได้ขายให้ บริษัท ศิลาอิสเทิร์น ส่งออกเพื่อไปขายยังประเทศอินเดีย ตั้งแต่ ปี 2547 จนถึงครั้งสุดท้ายคือเดือนมกราคม 2553 รวมจำนวน 38 ครั้ง

“ประเด็นนี้สำคัญมาก ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน อ้างถึงหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ อก ๐๕๑๔/๓๘๕๘ ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ในการเสนอต่อเลขาธิการ ครม.ใช้ในการประกอบการพิจารณาขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งบี ครั้งที่ผ่านมา เนื้อความว่า

“...แร่จากพื้นที่คำขอดังกล่าวได้จัดส่งเป็นวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนงานก่อสร้างและงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตจังหวัดสงขลาและใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง...” การส่งหินเขาคูหาไปประเทศอินเดียจึงผิดเจตนารมณ์ของการประกาศแหล่งหิน
 

 
*** ข้าราชการส่อเอื้อเอกชนเอาเปรียบผู้ได้รับผลกระทบ

นายเอกชัย เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบ้านแตกร้าว 326 หลังคาเรือน ซึ่งในกรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่าการประชุมนัดสำคัญที่มีมติเห็นชอบกับการศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ระบุว่า ระยะที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของการระเบิดหินทำให้บ้านเรือนแตกร้าวจะอยู่ไม่เกิน 850 เมตรจากบริเวณระเบิดหิน ซึ่งในที่ประชุมครั้งดังกล่าว ไม่ปรากฏผู้แทนราษฎรเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด...

“เครือข่ายฯ เพิ่มเติมรายละเอียดจากเอกสารของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพบ้านเรือนของราษฏร ในวันที่ 7 เมษายน 2554 ได้ดูบ้านที่เสียหายอยู่ในระยะห่างจากเหมืองหินโดยเฉพาะกลุ่มที่เกิน 1,000 เมตร ในหมู่ 4 กลุ่มบ้านหน้าเมือง บ้านนาปาบ มีการจับพิกัดค่า GPS เพื่อเช็คระยะ มีการถ่ายรูปเก็บรายละเอียด โดยกรรมการนักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศษสตร์ มอ.หาดใหญ่ สรุปคณะกรรมการได้เห็นความจริงของบ้านเรือนแตกร้าวในพิกัดต่างๆ แล้ว แต่ไม่มีการประชุมเพื่อสรุปข้อมูลที่ได้ในการลงพื้นที่ครั้งนั้น”

นายเอกชัย กล่าวว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ได้มีการพูดคุยระหว่างส่วนราชการกับทางบริษัท แล้วนำผลการพูดคุย โดยใช้ตัวเลขระยะห่าง 850 เมตร ที่ไม่ได้เป็นมติของกรรมการไปชี้แจงให้ ประชาชนทราบ ณ วัดเจริญภูผา อ.รัตภูมิ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 ผลการศึกษาที่เป็นเอกสารของคณะวิศวกรรมเหมืองแร่ได้ถูกจัดส่งให้สำนักงานอุตสาหกรรมในวันประชุมกรรมการครั้งที่ 4/2554 และคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมทุกคนคงได้รับเอกสารนี้ในที่ประชุม

“ผลของมติเรื่องระยะ 850 เมตรนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการอ้างว่าได้มีการดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อประกอบการขอต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินนั้นเอง ทั้งที่ได้มีการร้องโดยเครือข่ายฯไปแล้วว่ามตินี้ให้จ่ายค่าเสียหายไปก่อน เพราะบริษัทฯ รับได้ ส่วนที่เหลืออีก 200 กว่าหลังคาเรือนก็ต้องมีกระบวนการแก้ไขปัญหาต่อไปเพราะมีความเสียหายจริง อ้างตามบันทึกการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดและความเสียหายในระยะที่เกินกว่า 850 เมตรถึงเกือบ 2,000 เมตรนี้ ทางคณะกรรมการก็ได้เห็นเชิงประจักษ์แล้วว่าได้รับความเสียหายจริง นี้เป็นความไม่ชอบมาพากลของกลไกราชการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และจังหวัดสงขลา ภายใต้กำกับโดยกลุ่มทุนเอกชน”
 

 
*** รายงาน EIA โรงโม่หินอ้างอิงข้อมูลเท็จ - ไม่ทำเวทีประชาคม

นายเอกชัย เปิดเผยว่า ประเด็นที่สำคัญคือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเครือข่ายฯ พบว่า มีการนำเอาข้อมูลเท็จจัดทำเอกสารเท็จขึ้นมาประกอบและการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมในการศึกษา ตามความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ข้อ 2 ข้อ 3 พบว่ามีการใช้เอกสารบันทึกการประชุมประชาคมหมู่บ้าน ประชุมเรื่องผักสวนครัวรั้วกินได้ ประชุมโครงการอยู่ดีมีสุข ประชุมโครงการท้องถิ่นสามัคคี ซึ่งเป็นการอ้างการประชุมให้ดูเสมือนว่ามีกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน รวมถึงเอกสารหนังสือรับรองสภาพแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ก็เป็นหนังสือที่ไม่เป็นทางการ

“ประเด็น EIA ฉบับนี้ทางเครือข่ายฯ ได้ร้องเรียนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขอให้ยกเลิก เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ซึ่งดำเนินการศึกษาใน ปี 2549 จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยพิจารณาตรวจสอบข้อร้องเรียน ตามที่ได้ให้เหตุผลมาทั้งหมดด้วย”

*** ชาวบ้านหวังผลักดัน ‘เขาคูหา’ เป็นพุทธสถานของชุมชน

นายเอกชัย เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันสภาพของเขาคูหาได้ถูกระเบิดหินออกไปแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของภูเขาทั้งลูก แต่หลังจากที่หมดอายุสัมปทานโรงโม่หิน ชาวบ้านในพื้นที่มีแนวคิดว่าจะเรี่ยไรทุนทรัพย์และเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดสร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติประดิษฐานบนเขาคูหาและพัฒนาเขาคูหาเป็นพุทธสถานสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในพื้นที่ซึ่งล้วนมีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน

“ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีนับตั้งแต่เริ่มมีการระเบิดหินเขาคูหาเป็นต้นมา ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นในชุมชนมาอย่างยาวนานทั้งๆ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ล้วนต่างเป็นเครือญาติไปมาหาสู่กันมาอย่างยาวนาน ตอนนี้เราได้ขยายแนวความคิดเรื่องการปกป้องรักษาเขาคูหาในส่วนที่เหลือนี้เอาไว้และมีผู้เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก หลายคนหวังว่าการร่วมบุญร่วมกุศลสร้างพระพุทธรูปร่วมกันจะช่วยให้ผู้ที่เคยมีความขัดแย้งกันมาจากอดีตจะกลับมามีความรักและความสามัคคีกันอีกครั้ง” นายเอกชัย กล่าว
 ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านข้อมูลประกอบ

“ผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน” กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
 









 
อ่าน “รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน : กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา” รายงานโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 

















 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น