ตรัง - เปิดสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่จังหวัดตรังรอบใหม่ส่อแววล้มเหลว ไร้ผู้สนใจเข้าประมูล ขณะที่เงินกองทุนร่อยหรอจนเกือบหมดแล้ว อบต.เกาะสุกร เผยหากไม่มีผู้สนใจก็ขอเข้าไปดำเนินการเอง
วันนี้ (11 มี.ค.) นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการประกาศเปิดสัมปทานจัดเก็บภาษีอากรรังนกอีแอ่นในพื้นที่จังหวัดตรัง หลังจากที่ บริษัท ตรังรังนก จำกัด ได้หมดสัญญาลง แต่ปรากฏว่า ยังไม่มีผู้ใดสนใจยื่นซองเพื่อเข้าสัมปทานดังกล่าวแม้แต่รายเดียว โดยพื้นที่อำเภอปะเหลียน ตั้งราคากลางไว้ที่ 55.5 ล้านบาท และพื้นที่อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา ตั้งราคากลางไว้ที่ 26 ล้านบาท ภายในระยะเวลาสัมปทาน 6 ปี ทำให้เงินกองทุนจากภาษีอากรรังนกอีแอ่น ซึ่งเคยมีอยู่ 600,000 บาท ต้องนำไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเฝ้ารังนกอีแอ่นจนเหลือแค่ 70,000 บาท ดังนั้น คณะกรรมการจึงเห็นควรมีการเจรจา หรือเปิดให้สัมปทานแบบพิเศษก่อนที่เงินกองทุนภาษีอากรรังนกจะหมดไป
นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน กล่าวว่า หากการเปิดสัมปทานจัดเก็บภาษีอากรรังนกอีแอ่นเกิดปัญหาไม่มีผู้สนใจ ทาง อบต.ก็พร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการเสียเองเพื่อเป็นการดูแลทรัพยากรที่มีประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยเฉพาะพันธุ์นกอีแอ่นที่ต้องรักหวงแหนเอาไว้ และที่ผ่านมา จากการตรวจสภาพรังนกอีแอ่นในพื้นที่เกาะสุกร ทุกๆ ปีก็พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าหากจังหวัดตรัง และคณะกรรมการจะโอนมาให้ อบต.เกาะสุกร รับผิดชอบก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีรวมไปถึงเกาะเภตรา เกาะหลาวเหลียงเหนือ เกาะหลาวเหลียงใต้ และเกาะตะไบ ซึ่งครั้งล่าสุดพื้นที่อำเภอปะเหลียน มีการเปิดให้สัมปทานจัดเก็บภาษีอากรรังนกอีแอ่น เป็นเงิน 55 ล้านบาท
นายชัยพร จันทร์หอม แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า เห็นด้วยต่อการเปิดให้สัมปทานจัดเก็บภาษีอากรรังนกอีแอ่นเข้าสู่ท้องถิ่น เพราะทะเลตรังเป็นแหล่งทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมของชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามอย่างมากด้วย แต่ที่ผ่านมา ผู้ได้รับสัมปทานกลับไม่ได้รัก และหวงแหนทรัพยากรเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่ดี มุ่งแต่เข้าไปหาประโยชน์จากการจัดเก็บจนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของแหล่งรังนก จึงควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับชุมชน เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเสียเอง ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างงาน และเกิดการกระจายรายได้ โดยไม่กระจุกอยู่กับผู้ที่ได้รับสัมปทานเท่านั้น
สำหรับข้อมูลการเปิดสัมปทานจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นในพื้นที่จังหวัดตรัง พบว่า แต่ละปีมีปริมาณรังนกอีแอ่นทั้งชนิดที่ 1, 2, 3 และเศษรังนกเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด คือ ปี 2553 จัดเก็บได้ 218 กิโลกรัม ปี 2554 จัดเก็บได้ 325 กิโลกรัม ปี 2555 จัดเก็บได้ 388 กิโลกรัม ปี 2556 จัดเก็บได้ 416 กิโลกรัม และล่าสุด ก่อนหมดระยะเวลาสัมปทานปี 2557 จัดเก็บได้ 453 กิโลกรัม