xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจ “รังนกบ้าน” เมืองตรังไม่สดใส จีนสร้างเงื่อนไขซื้อกดราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ธุรกิจรังนกบ้านพลิกผัน ส่งออกไม่ฉลุย แถมราคายังตกเหลือกิโลกรัมละ 1.5 หมื่น ทั้งที่เคยสร้างรายได้ให้แก่ไทยอย่างเป็นกอบเป็นกำ เหตุจีนออกเงื่อนไขบีบห้ามส่งตรง ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

นายบุญโชค ชัยเกษตรสิน หรือโกลาภ นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรังนกบ้านรายใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ถือเป็นยุคทองของธุรกิจรังนกอีแอ่น หรือรังนกนางแอ่น โดยเฉพาะรังนกบ้าน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในพื้นที่ จากเดิมที่มีเพียงไม่กี่หลัง และหวังรายได้แค่เพียงเดือนละไม่กี่พันบาท แต่กลับกลายมาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้เป็นล่ำเป็นสัน จนเกิดกระแสการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องนั้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สถานการณ์รังนกบ้านได้เปลี่ยนแปลงไปมาก หลังจากที่ประเทศจีนได้ออกเงื่อนไขห้ามนำเข้ารังนกบ้านจากประเทศไทยโดยตรง นอกจากจะผ่านบรรดาพ่อค้าคนกลางชาวจีนเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรังนกเกิดปัญหา และกระทบมาจนถึงด้านราคา จากที่เคยสูงถึงกิโลกรัมละ 4.7 หมื่นบาท เมื่อช่วงปี 2556 กลับลดลงเหลือแค่กิโลกรัมละ 1.5 หมื่นบาท ในปี 2557 ทั้งๆ ที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีการส่งออกรังนกรวมกันสูงถึงปีละ 500-600 ตัน

ส่วนสาเหตุที่ประเทศจีนได้ออกเงื่อนไขดังกล่าวนั้น บรรดาผู้ประกอบการของไทยมองว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า เพียงเพื่อต้องการให้พ่อค้าคนกลางชาวจีนเข้ามาบีบราคา หรือบางครั้งก็ถึงกับขนาดส่งชาวจีนเข้ามาทำรังนกบ้านในประเทศไทยโดยตรง แต่วิธีการดังกล่าวได้สร้างผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมาก เพราะบางรายมีการลงทุนไปจำนวนที่สูง และยังไม่ได้ทุนคืนเลย กลับต้องมาทนขายรังนกในราคาตลาดที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงอยากให้ทางรัฐบาลของไทยช่วยเข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย

จากการคาดการณ์ระบุว่า ขณะนี้จังหวัดตรัง มีธุรกิจรังนกบ้านอยู่ประมาณ 300 หลัง โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอกันตัง แห่งละประมาณ 100 หลัง ส่วนที่เหลือกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ตั้งอยู่ริมทะเลอันดามัน เช่น อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว อำเภอหาดสำราญ และอำเภอสิเกา แต่ผลจากการที่ราคารังนกถูกบีบให้ลดลงมาอย่างมากถึง 70% นั้น จะทำให้เกิดการชะลอตัวลงทุนของผู้ประกอบการหน้าใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการเดิมๆ อาจต้องปรับกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น