ไทยจัดประชุมคณะกรรมการสินค้าอาเซียน จี้สมาชิกใหม่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ลดภาษีสินค้าเหลือ 0% ในปี 58 รับเปิด AEC หลังอาเซียนเดิมได้ลดมาตั้งแต่ปี 53 แล้ว ไทยสบช่องขออินโดนีเซียแก้ปัญหานำเข้าพืชสวน และขอให้ฟิลิปปินส์เร่งอนุญาตนำเข้าไก่สด พร้อมเร่งวางระบบรับการเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่าประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (Coordinating Committee on ATIGA) ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-13 มิ.ย. 2557 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมรวมประมาณ 100 คน เพื่อร่วมกันพิจารณาและผลักดันการดำเนินการภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนที่จะต้องมีการเปิดเสรีเพิ่มขึ้น ก่อนที่อาเซียนจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้จะผลักดันให้กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ต้องดำเนินการยกเลิกภาษีในส่วนที่เหลือให้เหลือ 0% และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 หลังจากที่ประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศได้ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการลดภาษีจะทำให้ภาษีการค้าสินค้าในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะไม่มีอีกต่อไป
นายสมเกียรติกล่าวว่า อาเซียนจะได้หารือเพื่อหาแนวทางในการขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งไทยจะได้ใช้โอกาสนี้หยิบยกและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหามาตรการขออนุญาตนำเข้าพืชสวนของอินโดนีเซีย เพราะกระทบต่อการส่งออกสินค้าพืชสวนของไทยไปยังอินโดนีเซีย รวมถึงจะขอความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตนำเข้าไก่สดของฟิลิปปินส์ หลังจากที่ฟิลิปปินส์ได้ปลดล็อกยกเลิกการห้ามนำเข้าแล้ว
ส่วนประเด็นอื่นๆ อาเซียนได้หารือการเร่งรัดด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเสรีในกลุ่มอาเซียนภายในปี 2558 โดยเฉพาะการเริ่มเจรจาจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ส่งออกนอกจากการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และการจัดทำคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Repository) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านมาตรการทางการค้าทั้งหมดของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้อาเซียนกำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 พร้อมกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้อาเซียนได้จัดให้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่าด้วยความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน และการประชุมคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้วย