ตรัง - คณะกรรมการจัดเก็บรังนกอีแอ่นพื้นที่จังหวัดตรัง เสนอเปิดสัมปทานเก็บรังนก “เกาะเหลาเหลียง” ใหม่ หลังเคยประกาศยกเลิกสัมปทาน และให้อยู่ในการดูแลของอุทยานฯ หมู่เกาะเพตรา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เผยเหตุจากที่ผ่านมา อุทยานฯ ปล่อยมือดีลักลอบเก็บรังนกไปขาย
วันนี้ (15 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง กล่าวว่า เมื่อปี 2553 คณะกรรมการจัดเก็บรังนกอีแอ่นพื้นที่จังหวัดตรัง ได้ยกเกาะเหลาเหลียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษ และมีถ้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของนกอีแอ่น จำนวน 8 ถ้ำ ให้อยู่นอกเขตสัมปทาน แล้วมอบให้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จัดทำเป็นเกาะเพื่ออนุรักษ์รังนกอีแอ่น เพิ่มปริมาณนกอีแอ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งที่เดิมเกาะเหลาเหลียงเหนือเคยถูกประกาศให้อยู่ในเขตสัมปทาน เช่นเดียวกับเกาะอื่นๆ
แต่จากการตรวจสอบของคณะกรรมการจัดเก็บรังนกอีแอ่นพื้นที่จังหวัดตรังหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กลับปล่อยให้มีการลักลอบจัดเก็บรังนก และไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่ร้องขอ แต่มีการหาผลประโยชน์ด้วยการเก็บรังนกไปจำหน่ายเพื่อเป็นทรัพย์สินของคนบางกลุ่ม และพวกพ้อง ทำให้นกอีแอ่นไม่มีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และมีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่ามีการเรียกร้องผลประโยชน์เกินควร จนสร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
นางราตรี ปักษี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะสุกร กล่าวว่า ในเมื่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ไม่ทำตามสัญญาที่ร้องขอ และนำเกาะเหลาเหลียง ไปหาผลประโยชน์ และปล่อยให้มีการลักลอบจัดเก็บรังนกเพื่อเป็นทรัพย์สินของคนบางกลุ่ม รวมทั้งให้พวกพ้องหาผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว คณะกรรมการจัดเก็บรังนกอีแอ่นพื้นที่จังหวัดตรัง จึงเห็นควรให้เรียกคืนเกาะเหลาเหลียงเหนือ มาเปิดให้สัมปทานหารายได้จากการจัดเก็บรังนกเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเหมือนกับเกาะรังนกอื่นๆ
พล.ต.ต.จีรวัฒน์ อุดมสุด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนเองมีความกังวลระหว่างผู้รับสัมปทานรายเก่า กับผู้รับสัมปทานรายใหม่ อาจจะมีการเก็บรังนกแบบล้างผลาญ หรือทำลายพันธุ์นก เพื่อเอาเปรียบกัน ดังนั้น ก่อนที่จะหมดสัญญาสัมปทานรายเก่า ควรจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูการจัดเก็บรังนกให้อยู่ในระเบียบกฎหมาย และหากได้ผู้ประมูลสัมปทานรายใหม่ จะต้องให้ผู้สัมปทานรายเก่าออกจากพื้นที่เกาะรังนกทันที โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ผู้สัมปทานรายใหม่