ปัตตานี - ชาวชุมชนปาเระ จ.ปัตตานี ร่วมละหมาด “ฮาญัต” ก่อนพัฒนาพื้นที่สร้างอาคารบาลัยเชคดาวุด อัลฟาฏอนีย์ เป็นอนุสรณ์สถานประกอบศาสนกิจ และแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนรุ่นหลังสืบต่อกันไป
วันนี้ (17 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณ ม.2 บ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ชาวชุมชนบ้านปาเระ ในนามชมรมอนุรักษ์บ้านเกิดเชคดาวุดฯ และอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ปาตานี ร่วมกับมัสยิดดารุสสลามเชคดาวูด อัลฟาฏอนีย์ ได้ประกอบพิธีละหมาด “ฮาญัต” ก่อนเข้าพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างอาคารบาลัยเชคดาวูด อัลฟาฏอนีย์ เป็นอนุสรณ์สถาน ประกอบด้วย สถานที่ประกอบศาสนกิจทางสาสนาอิสลาม เป็นห้องประชุม และสถานที่ไว้สำหรับเก็บวัตถุ เครื่องใช้โบราณร่วมสมัย เป็นที่เก็บตำรา หรือกีตาบของท่านเชคดาวูดที่แต่งขึ้นมา และฉบับแปลจากตำราภาษาอาหรับ เป็นภาษามาลายูมีจำนวนนับร้อยเล่ม เป็นที่ยอมรับของมุสลิมทั่วโลก โดยเฉพาะโลกมุสลิมในคาบสมุทรมลายู
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาของอนุชนรุ่นหลังสืบไป โดยครั้งนี้ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้นำรถแบ็กโคเพื่อใช้ในการถ่างป่า และปรับพื้นที่ดินในการเตรียมพื้นที่เพื่อการก่อสร้างอาการบาลัยเชคดาวูด อัลฟาฏอนีย์
ด้านอับดุลเลาะ เบ็ญญากาจ ประธานชมรมรักษ์บ้านเกิดเชคดาวูด และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ปาตานี ได้กล่าวว่า การสร้างอนุสรณ์เชคดาวูด อัลฟาฏอนีย์ ในครั้งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานไว้เป็นที่รำลึกถึงคุณงามความดี ที่ท่านได้สร้างไว้ให้แก่โลกมลายูมุสลิม โดยเฉพาะพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบร้อยเปอร์เซ็นที่ได้ศึกษาตำราที่ท่านเขียนไว้
เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติศาสนกิจ ตั้งแต่เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน และท่านเชคดาวูดฯ ได้อ้างในตำราของท่านมาโดยตลอดว่า หมู่บ้านของท่านอยู่ที่บ้านปาเระใกล้กับชุมชนบ้านกรือเซะ ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณ ม.2 บ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งวันนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้อนุเคราะห์นำรถเครื่องจักรมาพัฒนาพื้นที่
หลังจากนี้ คงต้องประสานกับทางศิลปากร เพื่อมาร่วมกันออกแบบตัวอาคารให้เหมาะสม และร่วมสมัยให้มากที่สุด จากนั้นคงต้องมีการระดมช่างไม้ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำศาสนา ร่วมกันกำหนดรูปแบบตัวอาคารบาลัยเชคดาวูดฯ ให้เป็นเอกฉันท์ในรูปแบบตัวอาการ และวัตถุประสงค์ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้าง
สิ่งที่คาดหวังจากการก่อสร้างอาการบาลัยเชคดาวูดฯ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาประวัติแล้ว จะสามารถหล่อหลอมความศรัทธาของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ได้ตระหนักถึงความเสียเสียสละได้เป็นอย่างดี อันจะนำมาสู่สันติสุขอย่างแท้จริง
ประวัติของเชคดาวุดฯ โดยย่อ เชคดาวุด อัลฟาฏอนีย์ มีชื่อนายดาวูด บินอับดุลเลาะ บินอิดริส เป็นคนชุมชนบ้านปาเระ ติดกับหมู่บ้านกรือเซะ ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงชุมชุนเล็กๆ ติดแม่น้ำลำคลองสายบ้านปาเระ-กรือเซะ ภายในบริเวณ ม.2 ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ตามเรื่องเล่าขานกันว่า ช่วงเยาว์วัย เชคดาวุดฯ ได้วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ภายในหมู่บ้านเหมือนวัยเด็กทั่วไป ขณะเดียวกัน ได้มีผู้รู้ศาสนาอิสลาม เป็นเชื้อสายอาหรับได้เดินทางมาจากประเทศเยเมน มาถึงปัตตานี พร้อมด้วยลูกศิษย์ ได้พบเห็นจึงเขาไปลูบหัวของเชคดาวุดฯ เพียงคนเดียว ที่กำลังวิ่งเล่นกันหลายคน จากนั้นลูกศิษย์จึงได้ถามผู้รู้ท่านนั้นว่าเหตุใดท่านได้ลูบหัวเด็กน้อยที่กำลังเล่นเพียงคนเดียวทั้งๆ ที่มีเด็กเล่นด้วยกันหลายคน ผู้รู้ท่านนั้นได้ตอบว่า เพราะเด็กคนนั้นอนาคตเขาจะเป็นอูลามาอ. เป็นผู้รู้ที่แตกฉานในเรื่องศาสนาอิสลาม และเขาจะเป็นนักเผยแผ่ศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง
เมื่อช่วงวัยหนุ่ม เชคดาวุดฯ ได้เดินทางไปเรียนที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ได้นาน 2 ปี หลังจากที่ได้ร่ำเรียนศึกษาตำรากีตาบกับโต๊ะครู หรือบาบอในพื้นที่ปัตตานี ได้ประมาณ 5 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาตำราต่อที่อาเจะห์ หลังจากนั้นเชคดาวุดฯ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มักกะห์ ณ ประเทศซาอุดะอาระเบีย ประมาณ 30 ปี ก่อนไปศึกษาต่อที่ นครมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อีก 5 ปี จนเป็นที่ยอมรับเป็นอูลามาอ์มาลายู มีจัดทำตำรา หรือกีตาบ ภาษามลายูอักขระยาวี และเขียนตำราเป็นภาษาหรับ นอกจากนั้น ท่านเชคดาวุดฯ ได้แปลตำราภาษาอาหรับที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นเป็นภาษามลายูอีกหลายสิบเล่ม ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวมลายูสามารถนำไปค้นคว้าเป็นที่อ้างอิงได้
ในระหว่างที่เชคดาวุดฯ กำลังศึกษาที่ นครมักกะห์ ได้แวะเดินทางกลับมาเยี่ยมแม่ที่บ้านเกิด หมู่บ้านปาเระบ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งเชคดาวุดฯ กับเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกันในหลากหลายประเทศ ได้จัดกิจกรรมให้ทุกคนกลับไปหาผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เพื่อมาประกวดความสวย ความอร่อยของผลไม้ ตามคำบอกเล่า เชคดาวุดฯ ได้เห็นลูกทุเรียนวางไว้ในครัวที่บ้านแม่ 3 ลูก จึงรีบกลับมาบ้านของแม่เวลาประมาณ 20.00 น. ซึ่งขณะนั้นแม่กำลังหลับอยู่ภายในบ้านจึงได้กล่าวสลามให้แม่ก่อนเข้าบ้าน จากนั้นจึงได้เข้าไปในครัวทันที จึงเห็นผลทุเรียนวางอยู่ภายในครัวทั้ง 3 ลูก จึงได้ตะโกนเรียกถามแม่ที่กำลังหลับอยู่ว่า “ทุเรียนในครัว 3 ลูกเป็นของใคร” แม่จึงตอบว่า “เป็นทุเรียนที่น้าของเชคดาวุดฯ เอามาเมื่อกลางวันถ้าลูกอยากได้ก็เอาไป” จากนั้นเมื่อแม่ตื่นนอน จึงนึกได้ว่าลูกชายกลับมาบ้านเมื่อคืน แล้วขอทุเรียนที่อยู่ในครัวทั้ง 3 ลูกอีกด้วย แม่เลยลุกไปดูในห้องครัวปรากฏว่า ทุเรียนหายไปจริง แสดงว่าลูกชายมาหยิบไปจริง ยังมีเรื่องอีกมากมายที่เกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของท่านเชคดาวุดฯ
สำหรับวัน เดือน ปีเกิดของท่านเชคดาวุดฯ ไม่ได้มีการระบุเป็นที่แน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์บางคนได้ระบุวันเดือนปีเกิดตรงกับวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม ปีฮิจเราะห์ศักราช 1183 รวมอายุ 80 ปี ท่านเสียชีวิตที่เมืองตออิฟ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ถูกฝังไว้ ณ สุสานหลวงเมืองตออิฟ เคียงคู่กับสุสานของซัยยิดฯ อับดุลเลาะห์ บินอาบัส ญาติท่านศาสดานบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ที่เสียชีวิตเมื่อปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 68