ชุมพร - จังหวัดชุมพร ประชุมหาทางออกกรณีกระทิงป่าลงมาจากเขานานถึง 2 ปี ที่อำเภอทุ่งตะโก จ.ชุมพร แอบมาผสมพันธุ์กับแม่วัวของชาวบ้าน จนถึงขณะนี้ได้ลูกวัวพันธุ์ผสมถึง 11 ตัว ยังสรุปไม่ได้ว่าจะนำกระทิงไปปล่อยสู่ธรรมชาติ หรือให้อยู่ในชุมชนต่อไป ด้านนักวิชาการเก็บดีเอ็นดีลูกวัวไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นพ้นธ์ุผสมหรือไม่
วันนี้ (21 ม.ค.) นายปฐม สาธิตานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายวชิระ พันดุสะ นายอำเภอทุ่งตะโก นายฐากร ล้อมศตพร ผอ.ส่วนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายวิโรจน์ นาคแท้ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี ผศ.เทียมพบ ก้านเหลือง นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหาทางออก
กรณีที่กระทิงป่าเพศผู้อายุ 5 ปี ที่ติดสัดแล้วลงมาจากภูเขาเขตป่าอนุรักษ์ เข้ามาอาศัยอยู่พื้นที่หมู่ 8 ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เป็นเวลานานถึง 2 ปี และผสมพันธุ์กับวัวเลี้ยงของบ้านหลายรายจนมีลูกออกมาถึง 11 ตัว และวัวกระทิงป่าตัวดังกล่าวไม่ยอมกลับเข้าฝูงในป่าลึก และยังวนเวียนหากินอยู่ตามสวนชาวบ้านในพื้นที่โดยตลอดเป็นเวลานานเกือบ 2 ปีแล้ว จนชาวบ้านทั่วไปรู้สึกคุ้นเคยกับวัวกระทิงตัวดังกล่าวอย่างมาก
ในการประชุมยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า จะให้กระทิงป่าตัวดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ หรือจะผลักดันกลับคืนสู่ป่า และอีกแนวทางหนึ่งก็คือ นำไปอยู่ที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่า โดยในวันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อหาทางออกร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
นายวชิระ พันดุสะ นายอำเภอทุ่งตะโก เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาร่วม 2 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ผูกพันกับกระทิงป่าตัวดังกล่าวมาก ไม่มีใครทำร้าย และปล่อยให้ผสมพันธุ์กับวัวเลี้ยง อีกทั้งที่ผ่านมา กระทิงตัวดังกล่าวยังไม่เคยทำร้ายคนในพื้นที่เลย และยังเชื่องคุ้นเคยกับคนมากขึ้น แตกต่างจากกระทิงป่าทั่วไปจนมีชาวบ้านหลายรายนำวัวบ้านตัวเมียมาเลี้ยงไว้ที่สวนปาล์มหลังวิทยาลัยเกษตรทุ่งตะโก ตรงที่กระทิงป่าอยู่จนเกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างวัวบ้านและกระทิงป่า และมีลูกออกมาถึง11 ตัวแล้ว อยู่ที่อำเภอทุ่งตะโก 8 ตัว และอำเภอใกล้เคียงอีก 3 ตัวชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการให้กระทิงตัวดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ต่อไป
ขณะที่ นายฐากร ล้อมศตพร ผอ.ส่วนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า จะต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชก่อนจึงจะสามารถดำเนินการเพื่อศึกษาทางวิชาการ หรือให้อยู่ในพื้นที่ และจะต้องทำตามกฎหมายที่ระบุไว้ด้วย ในส่วนตัวมองว่าสัตว์ป่าควรจะอยู่ในที่เหมาะสม
ด้าน ผศ.เทียมพบ ก้านเหลือง นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร กล่าวว่า ในด้านวิชาการถือว่าเป็นความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะการที่กระทิงป่าซึ่งมีโครโมโซมอยู่ที่ 56 ส่วนวัวบ้านมีโครโมโซมอยู่ที่ 60 ตามหลักวิชาการหากผสมกันแล้วโอกาสติดลูกเพียงแค่ 30% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีความแปลกที่กระทิงป่ากับวัวบ้านสามารถผสมข้ามสายพันธุ์จนมีลูกออกมาถึง 11 ตัว และยังมีชาวบ้านที่แอบนำแม่วัวมาให้กระทิงผสมพันธุ์อีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลไว้
ส่วนตัวมองว่าประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจะตกอยู่กับชาวบ้าน และในเชิงวิชาการอย่างมาก ที่จะพัฒนาสายพันธุ์วัวให้ดีขึ้นอีกทั้งนับได้ว่าอาจะเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เนื่องจากกระทิงตัวดังกล่าวไม่ตื่นคนเหมือนที่อื่น
นายสัตวแพทย์หญิง กนกวรรณ ตรุยานนท์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของลูกวัวผสมดังกล่าว เพื่อส่งไปให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจแยกหาพันธุกรรมว่ามีดีเอ็นเอ ของวัวกระทิงป่าหรือไม่ ส่วนในแง่เศรษฐกิจนั้นอาจจะมองว่าเป็นวัวสายพันธ์ใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเรียก ซึ่งมีโครงสร้างกล้ามเนื้อที่ใหญ่กว่าวัวบ้าน ซึ่งเป็นสายพันธ์ที่จะมีความแข็งแรงปราดเปรียว มีสีสันที่แปลก รูปร่างใหญ่โตขึ้นกว่าวัวบ้านทั่วไป แต่วัวกระทิงป่าเป็นสัตว์อนุรักษ์คุ้มครองตามกฎหมาย ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่4 เห็นว่าควรนำไปไว้ในที่เขาควรจะอยู่มากกว่า