กาญจนบุรี - พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงโปรดให้ นายอุดม อินทอง ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานเปิดโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2557 ณ หน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
เมื่อเวลา 13.40 น.วันนี้ (15 ธ.ค.) พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงโปรดให้ นายอุดม อินทอง นักจัดการงานในพระองค์ปฏิบัติการผู้แทนพระองค์ เป็นประธานเปิดโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2557 ณ หน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หมู่ 4 ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ผู้แทนมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง รอรับผู้แทนพระองค์ ครั้งนี้มี นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวรายงานว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) จึงได้จัดโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ 4 ตัว เป็นเพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย จำนวน 2 ตัว อายุระหว่าง 2-5 ปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2557
และจะได้จารึกว่าเป็นการปล่อยวัวแดงกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกอีกด้วย ทั้งนี้ วัวแดงที่นำมาปล่อยในครั้งนี้ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับมอบวัวแดงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นลูกวัวแดงเพศเมียที่แม่ถูกยิงตายในป่าสลักพระ ต่อมา ได้รับลูกวัวแดงเพศผู้จากจังหวัดเพชรบุรี และอุทัยธานีมาเพิ่มอีก 2 ตัว ปัจจุบัน มีวัวแดงในคอกเลี้ยง จำนวน 17 ตัว ได้รับการตรวจ DNA ผลการตรวจเป็นสายพันธุ์ไทยแท้ และปลอดจากโรคติดเชื้อใดๆ
“วัวแดง” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวัวแดง ชื่อไทย วัวแดง หรือวัวเพลาะ ชื่อสามัญ Banteng ชื่อวิทยาศาสตร์ Bos Javanicus ลักษณะทั่วไป รูปร่างคล้ายวัวบ้าน แต่มีลักษณะที่ต่างไปจากวัวบ้าน คือ ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่า มีวงก้นขาวทั้งในตัวผู้ และตัวเมีย มีเส้นขาวรอบจมูก ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้า ระหว่างโคนเขาของตัวผู้ไม่มีขน แต่เป็นหนังตกกระแข็งๆ เรียกว่า “กระบังหน้า” ความยาวลำตัว และหัวประมาณ 190-255 เซนติเมตร หางยาวประมาณ 65-70 เซนติเมตร สูงประมาณ 155-165 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 600-800 กิโลกรัม ถิ่นอาศัยมีการกระจายพันธุ์พบในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา อินโดจีน สำหรับประเทศไทยเคยพบได้ทุกภาค ส่วนใหญ่จะเจอบริเวณป่าโปร่ง หรือป่าทุ่ง เพราะจะทนต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี
อาหารวัวแดงจะออกหากินเป็นฝูงประมาณ 10-15 ตัว ในเวลากลางคืน หรือตอนเช้าตรู่ และตอนเย็น อาหารคือ หญ้าอ่อนๆ ลูกไม้ป่าบางชนิด ใบไม้ ยอดอ่อนของพืช และดอกไม้ป่าบางชนิด
พฤติกรรมชอบหากินอยู่เป็นฝูงไม่ใหญ่นัก ประมาณ 10-15 ตัว ปกติจะเริ่มออกหากินตั้งแต่ตอนเย็นไปจนถึงเช้าตรู่ กลางวันนอนหลบเคี้ยวเอื้องตามพุ่มไม้ทึบ ชอบอยู่ตามป่าโปร่ง หรือป่าทุ่ง ชอบกินดินโป่ง ไม่ชอบนอนแช่ปลัก รักสงบ ปกติไม่ดุร้าย หากินโดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง
การสืบพันธุ์ วัวแดงเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 4-5 ปีเศษ และจะผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ระยะตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกหย่านมเมื่ออายุประมาณ 9 เดือน แม่วัวแดงที่สมบูรณ์แข็งแรงสามารถให้ลูกได้ปีต่อปี วัวแดงมีอายุยืนประมาณ 20-25 ปี
แต่จากการถูกไล่ล่าอย่างต่อเนื่อง และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ทำให้วัวแดงลดจำนวนลงจนตกอยู่ในสถานภาพที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแต่เดิมจะพบเห็นวัวแดงอยู่อย่างชุกชุม แต่ในปัจจุบันไม่มีรายงานการพบวัวแดงอีกเลย จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการฟื้นฟูประชากรวัวแดงให้กลับคืนมา