xs
xsm
sm
md
lg

พบฝูงนกเอี้ยงมาอาศัยอยู่กลางทุ่งนาของชาวบ้านในอ่างทอง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - พบฝูงนกเอี้ยงจำนวนมากพากันมาอาศัยอยู่กลางทุ่งนาของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพัฒนาเป็นแหล่งดูนกธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยว



วันนี้ (23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พบนกเอี้ยงจำนวนมากที่พากันมาอาศัยอยู่ที่บริเวณกลางทุ่งนาหมู่ 6 ตำบลราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นที่พักผ่อนหลับนอนในยามค่ำคืนและจะออกไปหากินในตอนเช้า หลังจากนั้น ในช่วงเย็นนกเอี้ยงเหล่านี้ก็จะพากันกลับมาอาศัยอยู่ที่เดิมพร้อมกับส่งเสียงไปทั่วท้องทุ่งนา และจะพากันบินวนไปมาตามต้นไม้ และตามถนนถนนเดิน

นายยงยุทธ สุนทรมาตร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เปิดเผยว่า บริเวณท้องทุ่งนาแห่งนี้มีนกจำนวนมากมาอาศัยเป็นรังหลับนอน และจะออกหากินในตอนเช้า เป็นภาพที่ชินตาสำหรับชาวบ้านในบริเวณนี้ คาดว่าเป็นสถานที่ดี และปลอดภัย โดยเฉพาะนกเอี้ยงนั้นคาดว่ามีจำนวนมากนับแสนตัว เป็นนกเอี้ยงดำ และนกเอี้ยงโครง จึงอยากให้หน่วยงานราชการ และส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยพัฒนาให้เป็นที่ท่องเที่ยวดูนกเอี้ยง และศึกษาพันธุ์นก เพื่อจะได้มีนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติมาตั้งแคมป์ และดูนกในธรรมชาติจำนวนมากที่อาศัยอยู่กลางทุ่งนา

อนึ่ง สำหรับ “นกเอี้ยง” หรือ “นกเอี้ยงสาริกา” หรือ “นกเอี้ยงสาลิกา” หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “นกเอี้ยง” เป็นนกในวงศ์นกเอี้ยงและนกกิ้งโครง เป็นนกที่พบเห็นได้ง่ายในเขตเมือง หรือชุมชนของมนุษย์ มีความยาวประมาณ 25-26 เซนติเมตร ขาเรียวเล็ก นิ้วตีนแข็งแรง หัวและคอสีดำ ปากและหนังรอบตาสีเหลือง ลำตัวสีน้ำตาล ขอบปีก และปลายหางสีขาว หน้าอก ท้อง และก้นสีน้ำตาลอ่อน ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน หากินอยู่ตามพื้นดินปะปนกับนกชนิดอื่นๆ มักเดินสลับวิ่งกระโดด มีความปราดเปรียว ชอบจิกตีต่อสู้กันเอง หรือทะเลาะวิวาทกับนกชนิดอื่นๆ

กินแมลง และเมล็ดพืชต่างๆ รวมทั้งผลไม้เป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามชายทุ่ง พื้นที่ทำการเกษตรใกล้หมู่บ้าน อาจอยู่เป็นคู่ หรือรวมฝูง ชอบลงมาหากินอยู่ตามพื้นดิน ขณะหาอาหารมักส่งเสียงร้องไปด้วย มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ทำรังตามชายคาบ้านเรือน หรือตามต้นไม้ด้วยกิ่งไม้ หรือใบหญ้าแห้ง วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ผลัดกันกกไข่ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ประมาณ 14 วัน ไข่จึงฟักเป็นตัว พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย อัฟกานิสถาน พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค และปัจจุบันได้ถูกนำเข้าไปในบางพื้นที่ที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมด้วย

เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535


กำลังโหลดความคิดเห็น