xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านพบ “อีแร้งน้ำตาลหิมาลัย” สภาพอ่อนเพลีย เร่งนำส่งศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
สตูล - พบอีแร้งน้ำตาลหิมาลัยพลัดถิ่นขนาดใหญ่มหึมาสภาพอ่อนเพลีย ก่อนช่วยกันอนุบาลเบื้องต้น พร้อมส่งศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง

วานนี้ (9 ม.ค.) เมื่อเวลา 22.00 น. มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร จ.สตูล รับแจ้งจากชาวบ้านพบนกขนาดใหญ่ บริเวณบ้านสายควน ม.7 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล จึงนำกำลังอาสาสมัครตรวจสอบที่ในที่หมาย พบนกขนาดใหญ่สีน้ำตาลอยู่ในสภาพอ่อนเพลีย จึงรีบนำส่งมอบให้เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองปลักพระยา เขาระยามังสา ต.ฉลุง เพื่อส่งต่อสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง

โดยเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองปลักพระยา - เขาระยามังสา เชื่อว่าเป็นนกสายพันธุ์“อีแร้งน้ำตาลหิมาลัย”เมื่อกางปีกออกมีความยาวถึง 3 เมตร ลำตัวขนาดใหญ่ คาดว่าอายุไม่น้อยกว่า 10 ปี น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม อีแร้งชนิดนี้ไม่เคยปรากฏในประเทศไทยคาดว่านะจะเป็นนกผลัดถิ่น สภาพที่อ่อนเพลียทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ฯ ได้นำข้าวสุก ป้อนพร้อมกับน้ำ เพื่อเป็นการบรรเทาอาการที่อ่อนเพลียเบื้องต้นแล้ว

 
ด้าน นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล หลังทราบเรื่องได้เร่งติดต่อสัตว์แพทย์ให้เข้ามาอนุบาลแร้งน้ำตาลหิมาลัย ก่อนนำส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้างในเช้าวันพรุ่งนี้ อีแร้งน้ำตาลหิมาลัยส่วนหัว และลำคอมีขนอุย สีขาว ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนมีลายขีดสีขาว ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลือง หรือสีกากีอ่อน ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่าด้านหลัง ก้านขนแต่ละเส้นจะมีลักษณะเป็นสีขาวเด่นออกมาจากพื้นสีลำตัว เมื่อยังเล็ก นกวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีลายสีขาวบนก้านขนอย่างเห็นได้ชัดเจนกว่านกวัยโต มีขนปีก และขนหางสีดำ ขนหางมีทั้งหมด 14 เส้น

 
มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 110 เซนติเมตร ปีกเมื่อกางออกยาวได้ถึงเกือบ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 8-12 กิโลกรัม อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จัดเป็นอีแร้งที่มีขนาดใหญ่รองมาจากอีแร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus) ที่สามารถพบได้แถบเทือกเขาหิมาลัยเช่นเดียวกัน กระจายพันธุ์อยู่ตามแถบเทือกเขาของภูมิภาคเอเชียกลางไปจนถึงจีน โดยปกติจะอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 600-2,500 เมตร เวลาบินหากินจะบินไปจนถึงระดับ 4,500 เมตร หรือสูงกว่านี้ จะหากินเพียงลำพัง หรือพบเป็นฝูงเล็กๆ เพียง 2-3 ตัว โดยจะหากินตามช่องเขา หรือทางเดินบนเขา หรือบินตามฝูงสัตว์เพื่อรอกินซากของสัตว์ที่ตาย

 
มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน รังมีขนาดใหญ่โดยทำจากเศษกิ่งไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ทำรังบนหน้าผาสูง ทำรังเดี่ยว หรือรวมกันเป็นหลายรังประมาณ 5-6 รังในที่เดียวกัน ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ไม่ใช่นกประจำประเทศไทย แต่เป็นนกอพยพที่ฤดูหนาวจะบินลงใต้มาอาศัยอยู่ยังประเทศไทยเพราะมีอากาศที่อบอุ่นกว่า สถานะอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น